ถอดธรรมบรรยายจากคลิป นวัตกรรมแห่งสติ ๑๗

https://web.facebook.com/100007953217249/videos/1927624750845947/

พระธรรมเทศนา ณ วัดดอย (วัดพระธาตุแสงเทียน) เช้า ๑๐ ก.ค. ๖๐ โดยหลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท

เรื่อง ความสำคัญของการเปลี่ยนอิริยาบถ, เปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขาร

เราต้องเตรียมตัวไม่ประมาทอยู่เสมอกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เราสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง เช่น ใช้การเปลี่ยนแปลงของดิน น้ำ ลม ไฟ ให้เป็นกระแสไฟฟ้าได้
ร่างกายสังขารเปลี่ยนแปลงแตกดับตลอดเวลา เราสามารถใชประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เช่นกัน โดยการเปลี่ยนไตรลักษณ์เป็นไตรสิกขา ให้เกิดประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม ตามรัศมีของความสามารถ
ความประมาทจะไปซ้ำเติมการเปลี่ยนแปลงของไตรลักษณ์ให้แย่ลงไปอีก พระพุทธเจ้าได้มอบพินัยกรรมชิ้นสุดท้าย เป็นคาถาที่เรานำมาสวดทุกวัน “เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นสังขารธรรม เป็นไตรลักษณ์ มีการเสื่อมสิ้นไปตลอดเวลา หน้าที่ของท่านทั้งหลายคือทำความไม่ประมาทอยู่ตลอดเวลา” เราต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ทันการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คือหน้าที่ของชาวพุทธที่ไม่ประมาท
สัตตบุรุษสามารถบริหารเปลี่ยนแปลงการแตกดับของสังขาร ให้มันใช้ประโยชน์ได้ คำว่าใช้ประโยชน์ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้มันเที่ยง สุข ไม่แตกดับ แต่บริหารความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความแตกดับให้เป็นประโยชน์ เหมือนเราแปลงแสงอาทิตย์เป็นโซล่าร์เซล แปลงกระแสน้ำ กระแสลม มาปั่นไฟ แปลงถ่านหินให้เป็นพลังงาน
ศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงจักรวาลคือจิตใจของเราที่มันเปลี่ยนตลอดเวลา เปลี่ยนไปทั้งดีทั้งร้าย เปลี่ยนไปในทางร้ายคือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เปลี่ยนไปในทางดีคือเป็นศีล สมาธิ ปัญญา
การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุเรียกว่าพัฒนา หรือวิวัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงทางจิตเรียกว่าภาวนา สมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา พัฒนาและภาวนามาจากรากศัพท์เดียวกัน คือทำให้มันเจริญงอกงาม เปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
กายเป็นสังขาร จิตเป็นวิสังขาร กายเปลี่ยนแปลงตามกฎของไตรลักษณ์ เพราะเป็นรูปธรรม ไม่ควรปล่อยให้มีผลต่อจิตซึ่งเป็นนามธรรม และเป็นธาตุอมตะ
เหมือนสายไฟถ้าไม่มีสายดินก็อันตราย ช็อตได้ง่าย ในส่วนเกิดถ้าไม่มีส่วนดับเข้าไปบาลานซ์ ก็เป็นอันตราย ส่วนดับคือส่วนที่เป็นนามธรรม เป็นพลังงาน ในส่วนเกิดคือส่วนที่เป็นรูปธรรม เรียกว่าโมเลกุล กำเนิดอยู่ในกายใจของเรา
การมาเจริญสมถะและวิปัสสนาคือการมาเจริญความไม่ประมาท เพื่อดัดแปลงการเปลี่ยนแปลงแตกดับของรูปของนาม ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตตนเองและผู้อื่น เปลี่ยนแปลความไม่เที่ยงในทางลบ เป็นความไม่เที่ยงในทางบวก เปลี่ยนแปลงความทุกข์ที่เป็นทางลบ ให้เป็นในทางบวก เปลี่ยนแปลงอนัตตา การแตกดับ เป็นปัญญาใช้ประโยชน์ได้
เช่นความเสื่อมสลายของดิน ซากพืชสัตว์ มาดัดแปลงเป็นปุ๋ย คัดแปลงความเสื่อมสลายของน้ำที่ไหลลงทะเลโดยไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นระบบชลประทาน การเสื่อมของน้ำก็เกิดเป็นประโยชน์ขึ้นมา เป็นต้น
ต้นตอของการเปลี่ยนแปลงคือการเกิดดับ การเปลี่ยนแปลงในระดับรูปจะช้า สามารถควบคุมได้ เช่นเรานั่งท่าหนึ่ง ก็ทนได้ตั้งนาน กว่ามันจะแตกดับไป ตลอดเวลาที่เรานั่ง เลือดลมต้องหมุนเวียนตลอดเวลา เมื่อมันมาขังที่สะโพก เกิดความไม่สมดุลขึ้น ก่อให้เกิดทุกขังคือความปวด หนัก เมื่อย เหน็บชา
เราก็คอยเปลี่ยน เพื่อปรับสู่ความสมดุล ปรับได้สักพักมันก็เป็นใหม่ เป็นผลจากกฎของการเปลี่ยนแปลงคืออนิจจัง นำไปสู่ทุกขัง และไปสู่การเปลี่ยนแปลง ถ้ามันเปลี่ยนแปลงของมันเอง ก็จะนำไปสู่ความแก ความตาย ความเจ็บปวด เราจึงต้องเข้าไปพัฒนาการเปลี่ยนแปลง ด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถ
การเปลี่ยนแปลงอิริยาบถมีสองอย่างคือ
๑. การเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ด้านเดียว คือความสบายกาย เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยสัญชาตญาณ
๒. การเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติสัมปชัญญะ ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางจิตด้วย เรียกว่าเปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขาร
ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะในการเปลี่ยนแปลง ทุกครั้งที่ทุกขังเกิดขึ้นกับกาย เราก็จะสามารถเปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขาร พอเป็นวิสังขารก็ไม่เกิดการแตกดับ เป็นอมตะธาตุขึ้นมา เราจึงค้นพบกฎของอมตธรรม โดยการบริหารการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปโดยสติสัมปชัญญะตลอดเวลา คือความรู้เนื้อรู้ตัว เรียกว่ารู้รูปรู้นาม สังขารธาตุจึงเปลี่ยนเป็นวิสังขารธาตุ มตธาตุก็เปลี่ยนแปลงเป็นอมตธาตุ
อายุมาจากรากศัพพ์ อายะ (อาริยะ อายตนะ ก็มีรากศัพท์มาจากคำนี้) แปลว่าการสืบต่อความสุขทางกายและใจ แม้ว่าบางคนจะมีอายุสั้นแต่มีความสุขทางกายและใจ เรียกว่ามีอายุยืน ถ้าคนไหนมีความต่อเนื่องของชีวิตอยู่ แต่ความต่อเนื่องของความสุขหายไป ช่วงที่เราเป็นทุกข์ เราขาดอายุ บางคนอายุยืนเพราะวิบากกรรม ไม่ได้อายุยืนเพราะอภิสังขาร
เช้าวันนี้ได้นำเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงของไตรลักษณ์ในทางบวกเรียกว่าไตรสิกขา เพื่อให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนอิริยาบถ ว่าเราต้องการมตะ หรืออมตะ ถ้าเราตั้งใจยกมืออย่างมีสติสัมปชัญญะทุกครั้ง อมตธาตุก็เพิ่มขึ้น วิสังขารธาตุก็เพิ่มขึ้น
หัวมันบางหัวใหญ่แต่มีปริมาณแป้งน้อย ต้นอ้อยบางต้นใหญ่แต่มีปริมาณน้ำตาลน้อย เหมือนการยกมือสร้างจังหวะที่มีปริมาณสติสัมปชัญญะน้อย คนที่ตั้งใจทำอย่างถูกต้อง รู้ตัวตลอดเวลา ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมาก สามารถเปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขารได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม บางคนเปลี่ยนได้สามสิบ สี่สิบเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ถูกต้อง เราเปลี่ยนอิริยาบถลุกขึ้นนั่ง สิบครั้ง รู้ได้ห้าครั้ง ก็ได้เปอร์เซ็นต์ตามนั้น
Direk Saksith
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม,
Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ)