การปฏิบัติต้องมีเป้าหมาย
ขอให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติ และนั่งฟังไปด้วย เพราะวิธีปฏิบัติแบบแคลื่อนไหวนี้ เป็นวิธีที่ให้ศึกษาและปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน เพื่อนำชีวิตจิตใจของเรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะให้บ่อยๆ และนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ใจเราเคยอยู่ไกลตัวเองมานานจนนับชาติไม่ถ้วน เมื่อเราเกิดมาพบคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เหมือนได้มาพบกับพระพุทธองค์จริง ท่านก็สอนเราให้เรานำชีวิตจิตใจ มาอยู่กับปัจจุบันอยู่เสมอๆ อย่าปล่อยใจให้คิดไปกับอดีตและอนาคต เพราะจะทำให้เราเผลอคิด อันจะก่อให้เกิดความทุกข์และปัญหาตามมา
เป้าหมายที่๑ และเป้าหมายที่๒
เพราะฉะนั้น เราจึงพากันมา “ฝึกความตื่นรู้ ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน” นี้คือเป้าหมายหลักที่หนึ่งของปฏิบัติของเรา เพื่อฝึกฝนตัว “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม ณ ปัจจุบัน” เมื่อเรานับถือศาสนาพุทธ เราก็ควรพยายามฝึกใจให้เข้าถึงพุทธภาวะที่แท้ คือ เข้าถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน ให้ได้สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อความเป็นพุทธะในจิตของเราสมบูรณ์มากขึ้น จิตก็ไม่เหลือพื้นที่ให้กับกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นเหตุของการการเวียนว่ายตายเกิด จิตก็ไม่ต้องรับความทุกข์ทรมานจากการเกิด อันนี้คือเป้าหมายที่สองของเรา
กลางคืนฝัน กลางวันคิด เพราะจิตไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน
วิธีการปฏิบัติ ก็คืออย่างที่พวกเรากำลังทำนี่แหละ คือมีสติตามรู้การเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม เช่น การกิน อยู่ หลับ นอน นุ่ง ห่ม ขับถ่าย อาบน้ำ ซักผ้า กวาดบ้าน ถูเรือน ตลอดถึงการจัดหาปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นต้น ให้เราจัดการสิ่งเหล่านี้อย่างรู้เนื้อรู้ตัว มีสติสัมปชัญญะคอยติดตาม สังเกตเฝ้าดูอากัปกริยาต่างๆ ของตนเองทั้งภายนอกและภายใน
คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้เข้ามาศึกษาเรื่องวิปัสสนาอย่างถูกต้อง ชีวิตจิตใจก็ยังตกอยู่ในความหลงลืม ไม่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ปล่อยให้ชีวิตจิตใจล่องลอยไปอยู่ในอดีตบ้าง อนาคตบ้าง กลางคืนก็เรียกว่าฝัน กลางวันเรียกว่าคิด ไม่มีจุดหมายปลายทางแน่นอน จนกระทั่งเราตายไป กระแสจิตของเรา ก็ไปถือปฏิสนธิในภพภูมิที่มันเคยคิดเคยฝันไป เกิดแล้วตายอีก เกิดแล้วตายอีก ชาติแล้วชาติเล่าไม่เคยจบ เรียกว่า วัฏฏสงสาร
แต่พอเรามาศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านบอกให้ดึงกายกับใจเรามาอยู่ด้วยกัน ณ ปัจจุบัน ไม่ให้จิตล่องลอยไปในอดีต อนาคต เมื่อใจเราอยู่กับปัจจุบันขณะ เวลามีชีวิตอยู่ ก็สบาย เวลาตายก็สงบ จิตก็พ้นทุกข์ได้ง่ายๆ นี่คือเป้าหมายที่สามของการปฏิบัติ
นิพพานคือปัจจุบันจิต
เรื่องนี้จะยากขนาดไหน เราก็ต้องพยายาม เพราะอุดมการณ์ของพุทธศาสนิกชน ที่เราเคยตั้งไว้ว่า “ต้องไปให้ถึงพระนิพพาน” เช่นเมื่อเราทำบุญทุกครั้ง เราสละสิ่งของทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นทาน เรามักปรารถนาให้ถึงมรรค ผล นิพพานในอนาคตกาล แต่จริงๆ แล้วในขณะที่ปฏิบัติ เราสามารถปรารถนาถึงนิพพานได้ในปัจจุบันกาลเบื้องหน้านี้ได้เลย เพราะนิพพานเป็นปัจจุบันธรรม ถ้าเป็นอดีต อนาคตก็ไม่ใช่นิพพาน เพราะฉะนั้นเราจะปรารถนานิพพานในอนาคตนั้นไม่ได้ ไปไม่ถึง แต่ต้องปรารถนาในปัจจุบันนี้ เพราะนิพพาน คือจิตที่อยู่กับปัจจุบัน
นิพพานไม่มีอดีตและอนาคต
ดังนั้น เรา ก็จึงมีการภาวนา โดยใช้วิธีการของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ คือ ใช้วิธีการการเคลื่อนไหว เพื่อเพิ่มกำลังให้สติ ที่เกิดจากการตามรู้การเคลื่อนไหวของกาย แล้วสติจะดึงจิตกลับมาอยู่กับกายได้ ทำให้เกิดอาการรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาเอง ดังนั้น การมีสติสัมปชัญญะ จึงเป็นการชักนำจิตเข้าถึงนิพพานได้ทุกๆ ขณะอยู่แล้ว เราจะรู้ปริยัติหรือไม่รู้ก็ตาม จิตสามารถเข้าถึงนิพพานไปทีละก้าวๆ ตลอดเวลาอย่างไม่ขาดช่วงขาดสาย จนวันหนึ่ง จิตของเราก็เติมเต็มด้วยปัญญา จิตของเราก็ไปถึงภาวะที่หยุดเย็น แล้วเราก็จะรู้เองว่า จิตถึงนิพพานถึง มันเป็นอย่างไร?
ถึงนิพพานได้เพราะจิตหยุดไคว่คว้า
จิตหยุดแสวงหา หยุดดิ้นรนแส่สายไปในอารมณ์อดีต ในอนาคต เราสมมติเรียกจิตนั้นว่า “ถึงนิพพานแล้ว” แต่เมื่อใดจิตของเรายังดิ้นรนแสวงหาอดีต อนาคตอยู่ ก็ถือว่าจิตยังไม่ถึงนิพพาน
ดังนั้น ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเรามีอาชีพทำการทำงานอะไรก็ตาม ถ้าเป็นชาวพุทธที่แท้ แม้ชีวิตจะมีครอบครัวและการงานยุ่งยากเพียงใด ก็ไม่เป็นอุปสรรค เราควรมีหน้าที่สร้างนิพพานจิตไปด้วยทุกๆ ขณะที่มีการเคลื่อนไหว เพียงมีใจร่วมรู้ต่อการกระทำเท่านั้น จึงทำให้การทำงานเป็นการสร้างบารมีธรรมไปในเวลาเดียวกัน วันหนึ่งเมื่อจิตมันจะเต็มด้วยความรู้สึกตัวแล้ว เรียกว่า บารมีมันเต็ม จิตที่เต็มแล้ว มันก็ไม่คิด ไม่ปรุงแต่งไปไหนแล้ว จิตก็จะอยู่กับปัจจุบัน ก็เรียกว่าไม่ไปเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องสุข ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องไปสังสารวัฏ เรียกว่า “จิตไปถึงนิพพานนั้นเอง”
วิธีทำพระนิพพานให้แจ้ง
“นิพพานไม่ใช่เรื่องลึกลับ แต่นิพพานเป็นเรื่องลึกซึ้ง” ในพระบาลีท่านกล่าวไว้ว่า “นิพพานัสสะ สัจฉิกะระณัตถายะ” เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง คือทำจิตให้ตื่นรู้และเบิกบาน หรือสร้างความรู้เนื้อรู้ตัวให้ปรากฎชัดอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจุบัน ด้วยความรู้สึกที่เยือกเย็น และผ่อนคลาย เรียกว่าทำพระนิพพานให้แจ้ง ให้ปรากฏ แต่ถ้าเป็นความรู้สึกตัวที่ไม่เยือกเย็น ไม่ผ่อนคลาย แม้จะรู้สึกตัวทั้งวันทั้งคืน ก็ยังไม่ใช่อารมณ์นิพพาน แต่อาจเป็น “อารมณ์อุปาทาน” ตรงนี้ต้องฝึกสังเกต แยกแยะให้ดี มิฉะนั้น อาจจะหลงทางได้เช่นกัน
เราทำกับสิ่งที่มีอยู่ มิใช่หาสิ่งไม่มี
มันเป็นเรื่องที่เราทำกับสิ่งที่เรามีอยู่จริง สัมผัสได้ ไม่ใช่ทำกับสิ่งที่ดนเดานึกคิด ล่องลอย ลึกลับอย่างที่เราเคยทำกันมา คนส่วนใหญ่ปรารถนาสวรรค์ นิพพาน ที่อยู่นอกเหนือไปจากชีวิตจิตใจของตนเอง เขาจึงไม่พบ เพราะไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน สัมผัสไม่ได้ แต่พอมาศึกษา ณ วันนี้ ปรากฏว่า “นิพพานอยู่ใกล้ตัวมากที่สุด เราสัมผัสได้ตลอดเวลา เพียงแต่ดึงใจมาอยู่กับกายให้ชัดๆ ดึงใจมาอยู่กับปัจจุบันอย่างรู้เนื้อรู้ตัว เมื่อนั้นก็เป็นนิพพานทุกครั้งไป” ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม อยู่ในบ่อน ในบาร์ อยู่ในวัดในวา ในโบสถ์ ในวิหารศาลาการเปรียญ อยู่ในที่ตลาด ที่ออฟฟิศ ที่ทำงาน ก็สามารถทำนิพพานได้หมด เพียงเรามีความตื่นรู้ และเบิกบาน อยู่ในใจได้ทุกสถานการณ์ เพียงแต่เรามีวิธีการ รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจนึกคิด ตามหลักของหลวงพ่อเทียน
เราต้องทำตามรูปแบบอย่างเต็มอกเต็มใจ ไม่รู้สึกเคอะเขิน ไม่รู้สึกละอาย ทำแบบเคารพบูชา ทำเสมือนว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งบูชาสูงสุด แล้วก็ทำด้วยความเคารพ ทำอย่างองอาจไม่รู้สึกทดท้อห่อเหี่ยว เพราะอันนี้คือเส้นทางของเรา คนอื่นเขาไม่รู้ก็ให้เขาคิดไป แต่ถ้าวันหนึ่งเขารู้เขาก็จะมาทำอย่างที่พวกเราทั้งหลายทำ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องทำอย่างเข้าใจ ทำอย่างเคารพบูชา
สำหรับคนฝึกใหม่ ก็เป็นธรรมดา ที่ต้องมีความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจไม่เข้าใจ ไม่ชอบความตื่นรู้ แต่ติดยึดกับความสงบ จนไม่อาจรับทางนี้ได้ แล้วเกิดความคิดเปรียบเทียบหาเหตุหาผล คนเหล่านี้ก็จะไม่สามารถปฏิบัติตามทางเส้นนี้ได้ เขามักจะบอกว่า “ไม่ถูกจริตของเขา”
ในวิธีการของหลวงพ่อเทียน ท่านบอกว่า เบื้องต้น ให้ฝึกสติกับอิริยาบถต่างๆ ให้รู้สึกกายให้ได้ก่อน และจะรู้สึกใจเกิดตามมาเรื่อยๆ ให้เฝ้าสังเกตเสมอว่า ขณะนี้ความรู้สึกทางกายเป็นอย่างไร เช่นการยืน การเดิน การนั่ง การนอน ความรู้สึกเป็นอย่างไร เช่น ขณะนั่ง เราสัมผัสกับความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็งในร่างกายมีอยู่ แล้วเราเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง นั้นอย่างไร เกี่ยวข้องด้วยความรู้สึกเป็นเราทุกข์หรือเราสุข หรือเกี่ยวข้องด้วยความรู้สึกที่ซื่อๆ เฉยๆ เป็นเพียงความรู้สึก หรือว่ารู้สึกเป็นเรา หรือเป็นอาการของเรา เบื้องต้นให้ฝึกรู้ ให้ฝึกเข้าใจ ให้ฝึกสังเกตอย่างนี้ไปเรื่อยๆก่อน
รู้ถูกต้องชัดเจนแล้ว จะรู้สึกผ่อนคลาย
ถ้ารู้สึกไม่สบายตึงไป ก็ฝึกให้เกิดการผ่อนคลาย ถ้ารู้สึกว่ามันปวดเมื่อย ก็ให้หาวิธีผ่อนคลายอย่างรู้ตัว เรียกว่า ฝึกให้รู้จักการดับทุกข์ทางกายให้เป็นก่อน แต่ขณะเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อแก้ทุกข์ ก็ฝึกสังเกตให้รู้ชัดๆ ว่า ความทุกข์ความไม่สบายทางกาย มันดับไป หายไปอย่างไร ส่วนมากที่สุด เราจะเปลี่ยนแบบไม่รู้ ไม่ทันได้ฝึกสังเกตจุดนี้อย่างตั้งอกตั้งใจ พอรู้สึกปวดไม่สบาย เราก็พลิกปั๊บทันทีเลย ด้วยความเคยชิน อวิชชามันเริ่มต้นตรงนี้ก่อน
แต่จะมีนักปฏิบัติสักกี่คน ที่สนใจให้ความสำคัญกับเรื่องตื้นๆ ง่ายๆ แบบนี้ สำหรับเราแล้ว ถือว่านี้คือจุดเริ่มต้นของอวิชชาจริงๆ เมื่อรู้จักวิธีแก้ไขผ่อนปรนในความรู้สึกไม่สบายทางกายออกไปอย่างตั้งอกตั้งใจแบบนี้แล้ว ด้วยเจตนาศึกษาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเปลี่ยนเป็นนิสัยใหม่ การสังเกตความรู้สึกทางใจ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
เรื่องทางกายภายนอกเป็นเรื่องหยาบๆ ชัดๆ เรายังรู้ได้ไม่ชัด ไม่แจ้งเลย แล้วจะไปดูอาการของจิต คิดดูว่า เราจะทำได้ชัดเจนถูกต้อง ละเอียดได้แค่ไหน ไม่ต้องพูดถึงเลยทีเดียว
อาการทางใจ รู้ได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด
อาการรู้สึกทางใจ มีสารพัดอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่นความอยาก ความง่วงเหงา ความเบื่อ ความขี้เกียจ ความทุกข์ ความรู้สึกหนักใจ เป็นต้น อาการเหล่านี้ เราต้องฝึกเรียนรู้สังเกตมันไปเรื่อยๆ ก็แก้ไขไปเรื่อยๆ นั่นเรียกว่า นิโรธ “นิโรธ แปลว่า แก้ไข” เอาสิ่งนั้นออกไป เมื่อแก้ไขออกไปได้ สิ่งนั้นดับไป เราก็ใช้วิธีการนี้ไปเรื่อยๆ
ดังนั้น ในวิธีการของหลวงพ่อเทียนในเบื้องต้นให้รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก จำไว้เป็นสูตรเลย