เริ่มต้นฝึกหัดจากหุ่นตัดกิเลส
เรื่องมรรคเรื่องผล
เป็นเรื่องของอีกโลกหนึ่ง
เป็นโลกของโลกุตระ
มันจะต้องมีกฎเกณฑ์
ของมันต่างหาก
ในแง่ของโลกียะ
มันก็มีกฎเกณฑ์ของมันต่างหาก
กฎเกณฑ์ของรูป
เรียกว่าโลกียะ
กฎเกณฑ์ของนาม
เรียกว่าโลกุตตระ
เวลาเรียนตัดผม
ก็ต้องมีหุ่นให้ลองตัดก่อน
เช่นเดียวกัน
เราจะเรียนรู้นามธรรม
ต้องผ่านจากรูปธรรมเสียก่อน
ถ้าไม่เรียนจากรูป
ไปเรียนใจเลยไม่ได้
เพราะมันเป็นนามธรรม
เราเอากายเป็นที่ตั้ง
ของการศึกษา
เพราะกายมีการเปลี่ยนแปลง
ที่เห็นได้ชัด
ที่จริงแล้วเราต้องการไปศึกษา
การเปลี่ยนแปลงอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา ของจิต
แต่ว่าเราจะไปดูตรงนั้นเลยไม่ได้
เพราะดวงตาเห็นธรรมเรายังไม่เกิด
คนที่มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว
ก็ไปดูอารมณ์หรือความคิดได้เลย
แต่ว่าอารมณ์หรือความคิด
ไม่ได้เกิดตลอดเวลา
ทุกข์คือครูผู้ขยันสอน
การศึกษาอริยสัจสี่เริ่มจากทุกข์
ถ้าเปรียบเทียบทุกขเวทนา
ที่เกิดทางกายกับทางจิต
อันไหนเกิดบ่อยกว่ากัน
อันไหนเกิดเร็วกว่ากัน
ถ้าเรานั่งนานจนเมื่อย
เราพลิกเปลี่ยนท่า
กว่าจะปวดอีกก็หลายนาที
แต่ใจของเรามันอยากจะเปลี่ยน
อยากจะคิดทุกวินาที
ร่างกายจึงมีความอดทน
มากกว่าจิต
ทำให้เราสามารถเห็น
ทุกขเวทนาทางกาย
ได้นานและชัดเจนกว่า
ทุกขเวทนาทางจิต
เมื่อเรานั่งไปนานๆ
แล้วรู้ว่ามันปวด
เพราะเวทนามันบีบคั้นนานเกินไป
ทำให้เส้นสายมันยึด
เราก็ต้องรู้ตัว
พอเรารู้ตัว
เราก็ค่อยๆ เปลี่ยนอย่างรู้สึกตัว
ความสบายก็เกิดขึ้นระยะหนึ่ง
เดี๋ยวมันก็ปวดของมันใหม่
เป็นอยู่อย่างนี้
อันนี้คือวิธีรู้สึกตัวอย่างง่ายๆ
รู้ที่ทุกขเวทนาเสียก่อน
ความไม่สบายกายก่อให้เกิดความอยาก
แต่รู้อย่างนอกๆ ที่สุด
คือรู้การเคลื่อนการไหว
ทั้งอริยาบถใหญ่ อิริยาบถเล็ก
ลึกเข้าไปอีก รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง
เคร่ง ตึง เจ็บ ปวด
รู้ชัดๆ รู้เพื่อแก้ไข
เพราะสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์
แก้ไขเอาทุกข์ออกไป
เพราะร่างกายมันไม่เที่ยง
มันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ผลของการเปลี่ยนแปลง
คือความทุกข์
ทุกข์ต้องกำหนดรู้ ทุกข์ต้องศึกษา
ทุกข์ต้องแก้ไข
เราอยากจะไม่ให้มันทุกข์
เป็นสมุทัย
เราอยากให้มันสบาย
เป็นสมุทัย
เราอยากนั่งนานๆ แต่มันไม่นาน
มันเริ่มไม่สบาย
นั่งนานๆ อยากลุกไม่ได้ลุก
อยากลุกก็เป็นกามตัณหา
เล่นงานเราอีกแล้ว
เราจะต้องเอานิโรธ
ไปแทนความอยาก
คือแก้ไขความไม่สบาย
หรือความทุกข์นั้นออกเสีย
สติคือกรรไกรตัดกิเลส
การที่เรามีสติไปรู้กระบวนการ
แต่แรกว่ามันเจ็บอย่างไร
มันอยากจะพลิกจะเปลี่ยนอย่างไร
เปลี่ยนแล้วรู้สึกอย่างไร
เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง
อย่างชัดเจน
ตรงนี้เรียกว่าการใช้สติเข้าไปดู
เปลี่ยนครั้งเดียวมันไม่จบ
พอเปลี่ยนมาข้างนี้
เดี๋ยวมันก็ปวดอีกแล้ว
พอเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยเข้า
รู้สึกสบายใจก็ง่วงอีก
ความวัวไม่ทันหาย
ความควายก็มาแทรก
พอง่วงก็ลืมตากว้างๆ หายใจลึกๆ
ความทุกข์มันมาหลายทาง
ทุกข์ต้องกำหนดรู้
สมุทัยคือความอยาก
ที่จะให้มันเป็นอย่างนั้นก็ตัดออกไป
ไม่ต้องอยาก
พอเปลี่ยนก็เปลี่ยน พอแก้ก็แก้
เอานิโรธมาใช้เลย
อย่าให้เกิดสมุทัย
คอยแก้ไขทุกขเวทนาอยู่เรื่อยๆ
ขยันแก้เรียกว่ามรรค
มรรคต้องเจริญ ทำให้มากๆบ่อยๆ
แต่ไม่ใช่เปลี่ยนบ่อยๆ
กำหนดรู้มันบ่อยๆ ให้ทัน
อันนี้เรียกว่า
เราเรียนอริยสัจสี่จากรูปก่อน
พระพุทธยานันทภิกขุ