ดูแลศีลกายศีลใจให้ปกติ
ชีวิตเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ถ้าเราเอาใจใส่ดีก็จะใช้ประโยชน์ได้มาก ร่างกายและจิตใจมันเสื่อมตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงแปรปรวนตลอดเวลา ท่านทั้งหลายจงดูแลมันด้วยความไม่ประมาท
“อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” ก่อนปรินิพพานพระพุทธองค์ทรงสั่งไว้ แต่เราก็สวดผ่านไปไม่ค่อยคำนึงถึง ไม่เคยนำมาทำเป็นเรื่องเป็นราว ถ้าร่างกายไม่พร้อม นิวรณ์จะเข้าจัด ง่วงก็ง่วงจัด เบื่อก็เบื่อจัด เพราะความผิดปกติของร่างกาย ในฐานะเราที่เป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้เจริญสติ ถ้ายังดูแลร่างกายรูปธรรมของตัวเองไม่ได้ จะไปดูแลจิตใจได้อย่างไร นิวรณ์ก็ยังเอาออกไม่ได้เลย เราต้องคอยตรวจสอบตัวเอง จะปล่อยให้มันผิดปกติไม่ได้ ต้องทำให้มันปกติ
ปกติแปลว่าศีล ถ้าร่างกายผิดปกติ หมายความว่าร่างกายเราผิดศีลแล้ว เมื่อศีลกายผิด ศีลใจก็จะผิดไปด้วย ถ้าร่างกายมีเวทนาจัด ศีลกายก็ผิดแล้ว ศีลใจก็ต้องผิดไปด้วย กลายเป็นความไม่สบาย ขุ่นมัว เศร้าหมอง วิตกกังวล อึดอัดขัดเคือง มันก็จะมาด้วยกันเป็นขบวน
เราถูกของคู่ครอบงำมาตลอดชีวิต
เราจะมาดูว่าการเกิดดับของเวทนา มีส่วนทำให้เกิดสติได้อย่างไร การเกิดดับของกาย มีส่วนทำให้เกิดของคู่ในจักรวาลนี้ เช่น ความพอใจ-ความไม่พอใจ ความดีใจ-ความเสียใจ ความชอบ-ความไม่ชอบ ความรัก-ความชัง ความมืด-ความสว่าง การขึ้น-การลง การเข้า-การออก ผู้หญิง-ผู้ชาย ของคู่ครอบงำชีวิตเราอยู่ แต่เราไม่เคยใช้สิ่งที่เป็นคู่เหล่านี้ ให้เป็นอุปการณ์ในการเพิ่มวิปัสสนาญาณ เราปล่อยของคู่เหล่านี้ผ่านไปทุกเวลานาที โดยที่ไม่ใส่ใจมันเลย แม้แต่เรานั่ง ของคู่ก็ปรากฏ มีหนัก-มีเบา มีสบาย-ไม่สบาย มีหายใจเข้า-มีหายใจออก มีเย็น-มีร้อน มีอ่อน-มีแข็ง มีหยุด-มีเคลื่อน ของคู่ปรากฏตลอดในทุกส่วนที่เป็นรูป เราต้องรู้การเกิดดับแบบสมมตินี้ก่อน และต้องแปลงการเกิดดับของของคู่แบบสมมติในกายของเราให้เป็นนิมิตกรรมฐาน เพียงแต่ใส่ใจและรู้เข้าไปในสิ่งที่มันกำลังปรากฏคู่ของมัน คู่หนึ่งเป็นคู่ดับ-อีกคู่หนึ่งเป็นคู่เกิด คู่เกิดเป็นคู่ทุกข์-คู่ดับเป็นคู่ดับทุกข์ เช่น เรานั่ง ความหนักเกิด แต่พอเราเคลื่อน ความหนักก็ดับ พอหยุด หนักก็เกิด
ตัวเกิดทำหน้าที่ดับ-ตัวดับก็ทำหน้าที่เกิด เป็นเหตุ เป็นปัจจัย สิ่งหนึ่งก่อให้เกิดสิ่งหนึ่ง ซ้ายก่อให้เกิดขวา-ขวาก่อให้เกิดซ้าย ดับก่อให้เกิดเกิด-เกิดก่อให้เกิดดับ สุขก่อให้เกิดทุกข์-ทุกข์ก่อให้เกิดสุข มันสัมพันธ์กันตามหลักของปัจจยาการ ตามหลักของปฏิจจสมุปบาท เรามัวแต่เรียนปฏิจจสมุปบาทที่เป็นภาษาบาลี เป็นทฤษฎีวิชาการไม่รู้เรื่อง แต่หลักที่เกิดจากเหตุปัจจัยง่ายๆ กลับมองไม่เห็น
ความง่วงก่อให้เกิดความตื่น-ความตื่นก่อให้เกิดความง่วง
ถ้าเราง่วง พอมีตัวรู้เข้าไป มันก็ตื่น พอตื่นแล้ว ต่อมาตัวรู้มันอ่อน ก็กลายเป็นตัวง่วงอีก สลับกันไปอยู่อย่างนี้ แต่เราไม่เคยศึกษาของคู่ให้ชัดเจนเลย เรามีแต่ทำๆๆ แช่ๆๆ ชอบๆๆ อยู่อย่างนั้น นี่คือความเคยชินที่เราเป็นอยู่ แล้วใครจะไปแก้ให้เรา จากเรื่องไม่ยากก็กลายเป็นเรื่องยาก เป็นเพราะอวิชชา เราพูดให้คนอื่นฟัง แต่เราทำไม่เป็น แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร คนอื่นรู้เป็นร้อยเป็นพัน แต่เราไม่เป็น มันก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น ขอให้ปรับแก้ให้ได้ ว่าเรามีความผิดปกติตรงไหน ต้องปรับแก้ตลอดเวลา
พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนา แต่เป็นวิถีของชีวิตจริง เป็น The way of life ไม่ใช่ religions หรืออาจจะมองในอีกแง่มุมหนึ่ง Religion มาจากคำว่า rely แปลว่าที่พึ่ง ถ้าเราพึ่งกายใจตัวเองได้ เราก็เป็นคนมีศาสนา ถ้าพึ่งกายใจตัวเองไม่ได้ เราก็เป็นคนไม่มีศาสนา ต้องพึงหมอ พึ่งยา พึ่งคนอื่น
รู้สุขเวทนาอย่างละเอียด
“สามิสัง วา สุขัง เวทะนัง เวทิยะมาโน สามิสัง สุขัง เวทะนัง เวทิยามีติ ปะชานาติ
นิรามิสัง วา สุขัง เวทะนัง เวทิยะมาโน นิรามิสัง สุขัง เวทะนัง เวทิยามีติ ปะชานาติ”
“เมื่อเสวยสุขเวทนามีอามิสอยู่ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิสอยู่ เมื่อเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิสอยู่ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิสอยู่”
เมื่อเรารู้สึกสบาย ให้รู้สึกว่าสบาย เมื่อเรารู้สึกสบายโดยอาศัยสิ่งประกอบ คืออามิสเข้ามากระตุ้น
ก็ให้รู้สึกว่าเราสบายตอนนี้เพราะมีส่วนประกอบ อย่างเช่นเรานั่ง รู้สึกว่าอากาศร้อน เราก็เปิดพัดลม ตัวพัดลมเป็นส่วนประกอบให้เกิดความสบาย หรือเปิดแอร์ แอร์ก็เป็นตัวอามิส ก่อให้เกิดความสบาย ให้รู้ว่าความสบายที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากตัวเรา แต่เกิดจากส่วนประกอบ ท่านใช้คำว่าอามิส
และบางครั้งเรารู้สึกสบาย โดยที่ไม่ต้องมีอะไรมาประกอบ เรียกว่านิรามิส
ใจของเราบางครั้งมันสบายเพราะอาศัยเหยื่อ เรารู้สึกได้ว่ามี รูป เสียง กลิ่น รส มาประกอบ ทำให้ร่างกายจิตใจสบาย เรียกว่าอาศัยเหยื่อ อาศัยอามิส ก็ให้รู้ว่าขณะนี้เราสบาย เพราะอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่บางครั้งจิตมันสบายของมันเอง บางครั้งโล่ง โปร่ง เบา สบาย รูปก็ไม่มี เสียงก็ไม่ได้ยิน กลิ่นก็ไม่ได้ดม รสก็ไม่ได้ลิ้ม กายก็ไม่ได้สัมผัสกับอะไร ใจก็ไม่ได้นึกคิด แต่มันสบาย มันโล่งโปร่งของมันเอง เรียกว่าความสบายเกิดขึ้นเพราะไม่ต้องอาศัยอะไร ก็ให้รู้ชัดๆ
รู้ทุกขเวทนาอย่างละเอียด
“สามิสัง วา ทุกขัง เวทะนัง เวทิยะมาโน สามิสัง ทุกขัง เวทะนัง เวทิยามีติ ปะชานาติ นิรามิสัง วา ทุกขัง เวทะนัง เวทิยะมาโน นิรามิสัง ทุกขัง เวทะนัง เวทิยามีติ ปะชานาติ”
“เมื่อเสวยทุกขเวทนา มีอามิสอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา มีอามิสอยู่ เมื่อเสวยทุกขเวทนา ไม่มีอามิสอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา ไม่มีอามิสอยู่”
เราสวดกันอยู่ทุกวัน แต่เราก็ปฏิบัติไม่เป็น ภาษาพระพุทธเจ้านี้ท่องให้คล่อง แล้วจะหายทุกข์ เมื่อร่างกายไม่สบาย ก็ให้รู้ว่าร่างกายไม่สบายด้วยเรื่องอะไร เมื่อร่างกายไม่สบายเพราะอาศัยเหยื่อ อาศัยเครื่องกระตุ้น ก็ให้รู้ว่าขณะนี้เราไม่สบายเพราะอาศัยสิ่งนี้ อย่างเช่น เราไปอยู่ในบรรยากาศที่ร้อนอบอ้าว อากาศที่ร้อนอบอ้าวเป็นปัจจัยให้เราไม่สบาย บางครั้งทานอาหารแล้วปวดท้อง ไม่สบาย ก็ให้รู้ว่าอาหารนี้ทำให้เราปวดท้อง เห็นภาพบางอย่างไม่สบายตา ภาพที่ขัดใจ ก็ให้รู้ว่าความไม่สบายใจเกิดจากตา ความไม่สบายที่เกิดจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ ก็ให้รู้ว่าขณะนี้ใจไม่สบาย กายไม่สบาย เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นอามิส ที่ทำให้ใจไม่สบาย กายไม่สบาย ก็ให้รู้
แต่บางครั้งจิตไม่สบายของมันเอง ทั้งที่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็ไม่มีมากระทบ โดยไม่ต้องอาศัยอามิส ไม่อาศัยสาเหตุ เราอยู่ในห้องแอร์ กินอาหารอร่อย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ดีขนาดไหน
แต่ใจกลับไม่สบาย เราต้องดูว่าความไม่สบายเกิดเพราะอาศัยเหตุปัจจัยอะไร หรือไม่มีเหตุปัจจัยมากระตุ้น เราก็ต้องตรวจสอบ เวทนาก็ยิ่งละเอียดขึ้นไปอีก แต่เราก็ไม่เคยตรวจสอบ สบายฉันก็เพลินไปกับมัน แช่มันอยู่อย่างนั้น แช่จนง่วงแล้วง่วงอีก ฉันก็ไม่เปลี่ยน เจริญสติ แต่ไม่ใช้สติ มันก็เสียสติเท่านั้นเอง ไม่สบายฉันก็แช่มันอยู่อย่างนั้น ปวดหลังปวดไหล่ปวดเอว ก็นั่งแช่ ไม่สบายก็ไม่รู้ว่าไม่สบาย แล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่ได้สติ
รู้อทุกขมสุขเวทนาอย่างละเอียด
“สามิสัง วา อะทุกขะมะสุขัง เวทะนัง เวทิยะมาโน สามิสัง อะทุกขะมะสุขัง เวทะนัง เวทิยามีติ ปะชานาติ นิรามิสัง วา อะทุกขะมะสุขัง เวทะนัง เวทิยะมาโน นิรามิสัง อะทุกขะมะสุขัง เวทะนัง เวทิยามีติ ปะชานาติ”
“เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา มีอามิสอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา มีอามิสอยู่ เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ไม่มีอามิสอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา ไม่มีอามิสอยู่”
บางครั้งความสบายก็ไม่มี ความไม่สบายก็ไม่มี มันเฉยๆ จะว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ สุขก็ไม่เชิง เวทนามันเบามาก เบาจนสัมผัสไม่ได้ว่าสุขหรือทุกข์ ก็ให้รู้ชัดๆ ว่าขณะนี้ สุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่เชิง มันมีอยู่ ก็ให้รู้ ภาวะที่สุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่เชิง เราเรียกว่า เฉยๆ ซื่อๆ มันมีอยู่ก็ให้รู้ให้ชัด ความรู้สึกเฉยๆ ที่มันเกิดเพราะได้เห็น ได้สัมผัส ได้ยิน ได้ฟัง ได้ลิ้มรส ได้อารมณ์ ก็ให้รู้ชัดๆ แต่บางครั้งไม่ต้องมีสิ่งใดมากระตุ้น มันก็เฉยๆ ของมันเอง ก็ให้รู้ชัดๆ
ต้องรู้ตัวทั่วพร้อมก่อนจึงจะรู้ชัด
เข้าไปรู้ชัด เวทนาทางกายทั้ง ๓ ตัว ความสบายกาย ความไม่สบายกาย ความเป็นกลางทางกาย
สุขเวทนาพอรู้ชัดมันเปลี่ยนมาเป็นศีล ทุกขเวทนาพอรู้ชัดมันเปลี่ยนมาเป็นสมาธิ อทุกขมสุขเวทนาพอรู้ชัดมันเปลี่ยนเป็นปัญญา เวทนาทั้ง ๓ นี้ เป็นตัวกลาง เปลี่ยนกฎของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา โดยอาศัยสติสัมปชัญญะเป็นตัวศึกษา ตัวศึกษาคือศีลสิกขานั่นเอง หลักมีวางไว้ครบ แต่เราตีบทไม่แตกเอง เราจะไปโทษว่าครูบาอาจารย์สอนผิดไม่ได้ บาลีผิดก็ไม่ใช่ ถ้ารู้ชัด มันจะเปลี่ยน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ได้
การยกมือคืออาตาปี การพยายามตามรู้เป็นสัมปชาโน การรู้ให้มันชัดลงไปเป็นสติมา อาตาปี สัมปชาโน สติมา ไม่ใช่ อาตาปี สติมา สัมปชาโน เราต้องรู้ตัวทั่วพร้อมก่อนจึงจะรู้ชัด เราเปิดไฟฉายตอนแรกก็ส่องกว้างไปทั่ว เป็นสัมปชาโน แล้วค่อยปรับโฟกัสหาจุดที่ต้องการ เป็นสติมา มือที่กดสวิตช์ลงไป เป็นอาตาปี เมื่อองค์ประกอบมันสัมพันธ์กัน ก็สำเร็จประโยชน์
ถ้าเราไม่มีสัมปชาโนสติมา มีแต่ความเผลอ ความเพลิน ความชอบ ความอยาก เข้ามาแทน ถ้าเราเห็นรูปสวยๆ ก็อยากจะดูอีก ได้ยินเสียงเพราะๆ ก็อยากจะฟังอีก ได้กลิ่นหอมๆ ก็อยากจะดมอีก
รสอร่อยๆ ก็อยากจะกินให้มากขึ้น สัมผัสนิ่มนวลชวนสบาย ก็อยากจะแนบอยู่นานๆ อารมณ์ดี ก็อยากให้มีอย่างนี้ตลอด ใครมาพูดขัดใจไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ อนิจจังกลายเป็นสุขขัง สุขขังที่ไม่ได้ถูกตามรู้ชัด ก็กลายเป็นอวิชชา ตัวเพ่งหาเหยื่อ หาเหยื่อเจอแล้วกลายเป็นนันทิ เข้าไปเพลินกับมัน นันทิกลายเป็นราคะ ยาวเลยทีนี้ ราคะกลายเป็นกามฉันทะ (นิวรณ์) สติตามรู้ไม่ทันอีก กลายเป็นกามตัณหา กามตัณหา กลายเป็นโลภะ ตามรู้ไม่ทัน กลายเป็นโลภานุสัย กลายเป็นกามุปาทาน ต่อมาเป็นกามาสวะ มันแตกรากเป็นภพชาติ เวียนว่ายตายเกิด เดี๋ยวไปสวรรค์ เดี๋ยวลงนรก
สุขทุกข์เป็นคู่เกิด
ไม่สุขไม่ทุกข์เป็นคู่ดับ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำงานแล้วเหลือ ๒ คือ สุขกับทุกข์ สบายหรือไม่สบาย ไม่สบายเป็นเกิด สบายเป็นดับ ในดับมีเกิด ในเกิดมีดับ เวทนาเป็นตัวแปลงให้เกิดสุขทุกข์ได้ สุขสามารถเปลี่ยนเป็นทุกข์ ทุกข์เปลี่ยนเป็นสุข พอใจเปลี่ยนเป็นไม่พอใจ ไม่พอใจเปลี่ยนเป็นพอใจ มันเป็นการเกิดดับแบบสมมติ เราจะต้องออกจากการเกิดดับคู่นี้ให้ได้ เพราะมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ตัวเกิดกลายเป็นตัวดับ ตัวดับกลายเป็นตัวเกิด เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน สุขมันก็เปลี่ยนเป็นทุกข์ ทุกข์ก็เปลี่ยนมาเป็นสุข เปลี่ยนไปมาไม่แน่นอน ยังเป็นคู่เกิดดับที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ เป็นการเกิดดับของรูป
คู่ระหว่างทุกข์กับไม่ทุกข์ สุขกับไม่สุข จะกลายเป็นเกิดดับแบบปรมัตถ์ ถ้าเราทุกข์ แต่เราไม่ได้วิ่งหาสุข เพราะสุขเกิดมาจากทุกข์ และทุกข์เกิดมาจากสุข มันยังอยู่ในภพของรูป ในแง่ของนามแล้ว ทุกข์ต้องเปลี่ยนเป็นไม่ทุกข์ จึงจะดับสนิท สุขต้องเปลี่ยนเป็นไม่สุข ถึงจะไม่ทุกข์อีก การไม่สุขไม่ทุกข์เป็นดับ-การสุขการทุกข์เป็นเกิด เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่ทุกข์เกิดขึ้นเราจะไปแสวงหาสุข เราก็มาแสวงหาความไม่ทุกข์ สุขเกิดขึ้น แทนที่จะเพลินในสุข เราก็มาแสวงหาความไม่สุข หรือสุขแบบพอดี มัชฌิมาปฏิปทาจึงเกิดขึ้น ในส่วนสุดโต่งคือทุกข์กับสุข สุดโต่งไปทางขวาเป็นกามสุขัลลิกานุโยค คือทางที่เราต้องการ สุดโต่งไปทางซ้ายเป็นอัตตกิลมถานุโยค คือทางที่เราไม่ต้องการ แต่เมื่อออกจากทั้ง ๒ ส่วนนี้ได้ มันก็กลายเป็นไม่เอาสุขไม่เอาทุกข์ แต่รู้จักสุข รู้จักทุกข์ ใช้สุขใช้ทุกข์เป็น เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา
พบความเป็นหญิงเป็นชายในตัวเองได้เป็นพระ
ตลอดเวลาในภาคปฏิบัติของเรา เราจะต้องแสวงหาตัวที่ไม่สุขและไม่ทุกข์ เวลาทุกข์ แสวงหาสุข มันก็ไม่จบ มีแต่มันจะมาสร้างทุกข์ต่อไปอีก ของคู่ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิด ผู้หญิงก็ไปหาผู้ชาย ผู้ชายก็ไปหาผู้หญิง มันก็ผูกเวรผูกกรรรมกันอยู่อย่างนี้ทุกภพทุกชาติ แทนที่จะหาความเป็นไม่มีผู้หญิง ไม่มีผู้ชาย ทุกคนมีความเป็นหญิงเป็นชายอยู่ในตัวเอง ถ้าเราค้นพบความเป็นหญิงเป็นชายในตัวเรา เราก็จะค้นพบทางสายกลาง ไม่ต้องทุกข์กับหญิงกับชายอีก เรียกว่าเป็นพระ
ถ้าเจอความเป็นหญิงเป็นชายในตัวเอง ผู้ชายมีอยู่ในตัวแล้ว จะไปหาผู้ชายทำไม ผู้หญิงมีอยู่ในตัวแล้ว จะไปหาผู้หญิงทำไม มันมีสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่เรายังหามันไม่เจอ ความเป็นหญิงสมมติเป็นความพอใจ ความเป็นชายสมมติว่าเป็นความไม่พอใจ ผู้หญิงเป็นน้ำผู้ชายเป็นไฟ เมื่อเราติดในความพอใจในตัวเอง ภาวะเป็นหญิงปรากฏ เมื่อเราติดในความไม่พอใจในตัวเอง ภาวะเป็นชายปรากฏ ถ้าเราทันความพอใจไม่พอใจในตัวเรา เราก็ทันความเป็นหญิงเป็นชาย
ราคะ โทสะ โมหะ ก็มาจากตรงนี้ ราคะคือความเป็นหญิง โทสะคือความเป็นชาย โมหะคือความไม่รู้เท่าทันความเป็นหญิงเป็นชายในตัวเอง ไม่รู้เท่าทันราคะและโทสะ โมหะจึงเกิด ถ้ารู้เท่าทันราคะและโทสะ โมหะเกิดไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ไม่ลึก แต่ก็ไม่ตื้น ต้องใช้ปัญญา และความตั้งใจที่จะเข้าใจ
ปวดกายหายง่าย ปวดใจหายยาก
เราจะต้องแยบคาย ทำความเข้าใจให้ละเอียดขึ้น โดยการมีสติสัมปชัญญะทุกย่างก้าว เพราะในทุกย่างก้าวเป็นการทำงานของไตรลักษณ์ เมื่อไตรลักษณ์ทำงานแล้ว มันย่อเหลือแค่ ๒ คือการเกิดและการดับ ออกมาในแง่ของรูปธรรมและนามธรรม ในการปฏิบัติของเราต้องมาตามรู้ ในส่วนที่เป็นรูปธรรมให้ทันเสียก่อน ไม่เช่นนั้นเราจะไปตามเห็นการเกิดดับ ในส่วนที่เป็นนามธรรมหรือปรมัตถ์ไม่ได้
ยกมือขึ้นลง ลมหายใจเข้าออก เหลียวซ้ายแลขวา ก้าวซ้ายก้าวขวา ฯลฯ ให้ตามรู้ทันสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ก่อน เพื่อสร้างให้จิตเกิดทักษะ (skillful mind) ให้เกิดความชำนาญในส่วนที่เป็นรูปธรรม เหมือนเด็กที่จะไปเขียนหนังสือให้เป็นเรื่องเป็นราว จะต้องมาฝึกทักษะเขียน ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูกให้เป็นเสียก่อน ต้องมาฝึกการผสมอักขระพยัญชนะให้เป็น มันถึงจะอ่านรู้เรื่อง นี่อักขระก็ยังเขียนไม่เป็น สระก็ยังผสมไม่ถูก แต่ฉันจะดูใจน่ะ ใครจะว่าไง เวลาเกิดปัญหาก็วิ่งมา ติดวิปัสสนู จินตญาณ วิปลาส อาตมาเองหลงอารมณ์ไป ๓ ปี
เมื่อก่อนหลวงพ่อเทียน ท่านก็พูดถึงเรื่องดูใจเหมือนกัน แต่นี่เรายังไม่มีพื้นฐานการดูกายมาก่อน ที่หลวงพ่อพูดนั้น ท่านปฏิบัติดูกายมาตลอด แต่บางคนเขามีพื้นฐานมาเยอะ ที่จะไปดูใจได้เลยก็มี แต่บางคนไม่มีพื้นฐานในการดูจิตมาก่อน ไม่มีพื้นฐานสมถะมาก่อน ไปดูใจเข้า เรียบร้อยเลย เข้าไปในอารมณ์วิปัสสนู จินตญาณ แล้วออกยาก เป็นกันเยอะด้วย
หลวงพ่อท่านแนะให้มาดูกาย เพื่อสั่งสมทักษะการดูให้รู้เท่าทัน จนชำนิชำนาญในส่วนที่เป็นรูปเสียก่อน เพราะส่วนที่เป็นรูปมันดูง่าย เห็นง่าย เข้าใจง่าย ร่างกายปวดแค่พลิกก็หายแล้ว แต่ปวดใจเพราะแฟนนอกใจ มันไม่หายง่ายๆ ปวดเป็นปียังไม่หายเลย หรือปวดใจเพราะโดนโกงเป็นล้าน มันไม่หายสักที คิดเมื่อไรมันปวดทุกที แต่ปวดกายแค่พลิกก็หายแล้ว
ทุกข์กายไม่ใช่สมุทัย
พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงถือว่า ความไม่สบายกายเป็นสมุทัย ท่านถือว่าเป็นตัวไตรลักษณ์ ที่เป็นกฎของธรรมชาติ แก้ไขได้ การบำบัดแก้ไขทุกขเวทนาทางกาย เป็นธรรมชาติที่คนและสัตว์มีอยู่ ท่านจึงไม่ถือเป็นสมุทัยสัจจ์ แต่จะเป็นสมุทัยสัจจ์ตรงที่ เราขาดสติสัมปชัญญะ เข้าไปดูทุกขเวทนาทางกาย แล้วมันแปรเป็นอภิชชา โทมนัส ราคะ โทสะ โมหะ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นสมุทัยเข้าไปสู่จิตได้ ความไม่สบายที่เข้าไปสู่จิต เป็นสมุทัย แต่ความไม่สบายทางกาย ไม่ถือว่าเป็นสมุทัย ถือว่าเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง
ที่เราสวดว่าการเกิดเป็นทุกข์ การแก่เป็นทุกข์ การตายเป็นทุกข์ การเจ็บเป็นทุกข์ หมายถึงตัวทุกข์กาย ยังไม่ใช่สมุทัย แต่การเกิดอารมณ์ การแก่ของอารมณ์ การเจ็บของใจ การตายของสติสัมปชัญญะ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แบบนี้เป็นสมุทัย การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทางกาย ถือเป็นกฎธรรมชาติ เรียกว่า ธัมมนิยาม ไม่มีใครฝืนได้ แต่ตัวสมุทัย ฝืนได้ แก้ได้ จิตของเราเมื่อรับเอาความชอบไม่ชอบ พอใจไม่พอใจ ราคะ โทสะ เข้าไปแล้ว มันแก้ให้หายเด็ดขาดได้ แต่ร่างกายของเรามันเวียนเจ็บ เวียนเมื่อย เวียนเกิด เวียนตาย มันแก้ไขไม่ได้ แต่บำบัดทุกขเวทนาได้ โดยไม่ต้องใช้ปัญญามาก ตัวบำบัด แก้ไข ขจัด ตัดออกไป ท่านใช้คำว่านิโรธ ทำให้มันดับได้ ความไม่พอใจถ้าเราทำให้มันดับได้ นิโรธปรากฏแล้ว แต่ก็ต้องมาทำนิโรธที่มันเป็นสมมติ ให้ชำนาญเสียก่อน
ความคิดที่เกิด ยังเป็นกลางๆ ยังไม่เป็นสมุทัย ต่อเมื่อไม่มีสติสัมปชัญญะเข้าไปตามดู ความคิดถึงจะเป็นสมุทัย ความคิดไม่ได้เป็นตัวอันตราย แต่ความคิดเป็นตัวตั้งต้น ที่จะเปลี่ยนเป็นวิชชาหรืออวิชชาก็ได้ ขึ้นอยู่กับสติมาทันหรือไม่ ถ้าสติมาทันเป็นวิชชา ถ้าสติมาไม่ทันเป็นอวิชชา เราจึงเจริญสติให้มาก โดยเราจะต้องตามรู้รูปธรรมเหล่านี้ ให้มันได้เสียก่อน สัก ๒๕ เปอร์เซ็นต์
หายใจ ๑๐๐ ครั้ง ให้มันรู้สัก ๒๕ ครั้ง ถือว่าใช้ได้ ก้าวไป ๑๐๐ ก้าว ให้มันรู้สัก ๒๕ ก้าว เป็นพระโสดาปัตติมรรค หยิบจับ ๑๐๐ ครั้ง ตามรู้ได้ ๕๐ ครั้ง ถือว่าเป็นพระสกิทาคามีมรรค ทางกายยังเป็นระดับมรรค ยังเป็นทางสมมติ ทางโลกอยู่ แต่เมื่อใดเป็นทางนาม กายก็ทำได้ด้วย ใจก็ทำได้ด้วย มันเริ่มเป็นผลแล้ว
มรรคผลอยู่ไม่ไกลถ้าหมั่นใช้สติ
มรรคผลไม่ใช่เรื่องไกลตัว ขึ้นอยู่กับเรามีสติตามรู้สิ่งเหล่านี้ได้ละเอียดมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราตามรู้สิ่งเหล่านี้ละเอียดขึ้น จนมันกลายเป็นอัตโนมัติ เรียกว่าปรมัตถ์ มันก็คือ วัตถุ ปรมัตถ์ อาการ ที่หลวงพ่อเทียนพูดถึงนั่นเอง
รู้ได้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องระลึกเรียกว่าปรมัตถ์ แต่ถ้าอาศัยการระลึกอยู่ถึงจะรู้เรียกว่าเป็นมรรค ต่อเมื่อมันรู้โดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องตามระลึกรู้ มันเป็นของมันเอง เรียกว่าเป็นผลแล้ว เช่น โสดาปัตติผล สกิทาคามีผล ตัวที่เป็นเอง เรียกว่าปรมัตถ์ ตัวที่ยังต้องคอยกระตุ้นอยู่ เรียกว่าสมมติคอยบอก คอยเตือนกัน ถึงจะรู้สึกตัว ถ้าไม่บอก ไม่เตือน ไม่กระตุ้น ยังไม่รู้สึกตัว รู้สึกบ้าง แต่บางเบา ไม่มีกำลัง แต่ถ้ารู้เอง เห็นเองตลอด เป็นผลแล้ว
วิธีการหลวงพ่อเทียนโดยหลักแล้วมี ๒ ระบบ คือ ระบบรูปนาม และระบบปรมัตถ์ ในขอบข่ายของรูปนาม กว้างมากเลย ได้แก่ รู้ธาตุ ๔ รู้ขันธ์ ๕ รู้อายตนะ ๑๒ รู้ไตรลักษณ์ รู้ศาสนา รู้บุญบาป ฯลฯ รู้ปรมัตถ์ ได้แก่ รู้มรรค รู้ผล รู้ญาณ รู้ปัญญา ฯลฯ
พระพุทธยานันทภิกขุ