อาการนิ่งของจิต มี ๒ ลักษณะ
ลักษณะที่ ๑ คือ นิ่งเพราะความไม่รู้
หรือนิ่งด้วยอำนาจของอวิชชา
เรียกว่า นิ่งด้วยโมหะจิต
ลักษณะที่ ๒ คือ นิ่ง เพราะความรู้สึกตัว
นิ่งเพราะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง
คือนิ่งด้วยอำนาจของวิชชา
เรียกว่า “ฌานจิต”
หรือเรียกว่า อุเบกขา ก็ได้
จิตนิ่งลักษณะที่ ๑
คือการเอาสติไปเพ่งจิต
ไม่ให้มันทำงานตามหน้าที่
จิตมันจึงนิ่ง เพราะถูกบังคับ
แต่ถ้านิ่งไปนานๆ จะมีปัญหา
ทำให้จิตเกิดอาการเกร็ง
และเครียด โดยไม่รู้ตัว
เพราะมันไปฝืน
ต่อกฎไตรลักษณ์ที่ว่า
รูปธรรมนามธรรม
ทั้งหลายทั้งปวง
ไม่เที่ยง (อนิจจัง)
ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง)
และแตกดับไปตลอดเวลา
หาตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ (อนัตตา)
รูปนามอันใดก็ตาม
หากไปขัดขวางต่อกฎอันนี้
ปัญหาและความทุกข์
ต้องเกิดตามมาอย่างแน่นอน
คนทั่วไป ไม่รู้จักกฎความจริงข้อนี้
อยากยึดไว้ อยากให้คงอยู่ อยากให้เที่ยง
จึงทุกข์กันโดยถ้วนหน้า
และต้องทุกข์กันไปตลอดชีวิต
จึงเรียกจิตชนิดนี้ว่า “โมหะจิต”
จิตนิ่งลักษณะที่ ๒
จิตนิ่งยังไม่พอ ต้องรู้การเกิดดับด้วย
การที่จิตหยุดปรุงแต่งชั่วครั้งชั่วคราว
ทุกคนมีอยู่แล้ว
แต่ก็ไม่ถือว่าหมดกิเลส หรือมีกิเลส
เพราะกิเลสมันเกิด
ตอนเราเผลอคิดเท่านั้น
หรือไม่เผลอ แต่เราเข้าไปในความคิด
และอารมณ์นั้นๆ จนออกไม่ได้
แม้จะรู้ตัวว่ากำลังคิดก็ตาม
ดังนั้น การหยุดคิดชั่วคราว
จึงเป็นเรื่องธรรมดา
แต่ถ้ารู้จักความคิดว่า
มันเกิดขึ้นอย่างไร
ตั้งอยู่อย่างไร
และมันจะดับอย่างไร
รู้แบบนี้สิ กิเลสมันจะดับในขณะนั้นๆ
แต่ถ้าเผลออีก มันก็เกิดอีกเรื่อยไป
แต่ถ้าไม่เผลอคิด
เฝ้าดูมันคิดอยู่ตลอดเวลา
นั้นแหละ กิเลสมันจึงจะหมดไปได้
พระพุทธยานันทภิกขุ