คำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

มันคิดน่ะดีแล้ว

ช่วงนี้ต้องคิดให้มันดี
เอาคุณภาพของมันจริงๆ
ไม่ใช่ว่าจะฟังเเล้ว รู้เเล้วเอาไปพูด
ไม่ใช่อย่างนั้น
 
ต้องเอาคุณภาพของมัน
ที่มันเป็นขึ้นมาจริงๆ
มันเป็นช่วงระยะใด เวลาใด
 
อันนี้พูดเรื่องตัวเองบ้าง มันเป็นกำลัง
เราย่าง(เดิน)อยู่ หรือ เราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน
จะรู้จักจริงๆ เรื่องนี้
 
ดังนั้น การห้ามความคิดจึงห้ามไม่ได้ ให้มันคิด
ปฏิบัติอันนี้ปฏิบัติให้มันคิด
ไม่ใช่ปฏิบัติให้มันสงบ ให้มันนิ่ง
มันไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ให้มันคิด
 
ทุกคนที่เคยฟังหลวงพ่อพูด
มันคิดดีเเล้ว มันฟุ้งซ่านดีเเล้ว
หลวงพ่อเคยพูดอย่างนั้น
 
บัดนี้เราไปปฏิบัติธรรมะ
เราไม่อยากให้มันคิด
อยากให้มันสงบ เนี่ย มันผิดกัน
 
ดังนั้น จึงว่า ความคิด ความเห็น
มันจึงคนละเรื่องกัน
 
ถ้ามันคิด เราก็ยิ่งรู้ความคิดของเรา
ถ้าเราไปบังคับไม่ให้มันคิด
มันก็บังคับไม่ได้ มันก็เป็นทุกข์
นี่มันเป็นอย่างนั้น
 
ความสงบนี้มันมี สอง อย่างด้วยกัน
ความสงบเเบบบังคับไม่ให้มันคิด มันเป็นทุกข์
 
บัดนี้ความสงบปล่อยไปตามสภาพของมัน
มันยิ่งคิดเราก็ยิ่งรู้

หลวงพ่อไม่เคยเรียนหนังสือ หลวงพ่อเคยเปรียบเทียบให้ฟัง เหมือนกับนักมวย นักมวยเรียนมาจากครู เรียนมาจากอาจารย์ เเต่เรียนมาเเล้วไม่เคยขึ้นเวที ไม่เคยไปชกในเวที จะถือว่าคนนั้นเป็นเเชมป์เปี้ยนได้มั๊ย เป็นไม่ได้ บัดนี้อีกคนหนึ่ง ไม่เคยเรียน ไม่เคยมีครู เเต่ขึ้นเวทีชกกับคู่ต่อสู้บ่อยๆ ชกบ่อยๆ ชกไปจนได้เป็นเเชมป์เปี้ยน ชกทีไรชนะทุกที ชกทีไรชนะทุกที ก็ได้เป็นเเชมป์เปี้ยน อันนี้ก็เหมือนกัน การปฏิบัติธรรมะ มันยิ่งคิดเรายิ่งรู้ความคิด ถ้าไปบังคับไม่ให้มันคิด มันก็เลยไม่รู้ความคิด ไม่รู้กลไกของความคิด

ดังนั้นความสงบจึงว่า มันมีอยู่สองอย่างด้วยกัน สงบเเบบไม่รู้ สงบเเบบรู้ มันเป็นอย่างนั้น ดังนั้น การปฏิบัติธรรมมะเเบบนี้ ความเป็นพระอริยะบุคคลนั้น เป็นได้ทุกคน ถ้าทำถูกจังหวะ ถ้าทำไม่ถูกจังหวะเเล้ว เเสดงว่าไม่เกิดปัญญา ไม่ถูกต้อง ถ้าไม่เกิดปัญญามันจะถูกต้องได้ทำไม ถ้าไปบังคับไม่ให้มันคิด มันจะเกิดปัญญาได้ยังไง ต้องปล่อยให้มันคิด มันยิ่งคิดเราก็ยิ่งรู้ มันยิ่งคิดเราก็ยิ่งมีปัญญา หาวิธีเเก้ไขมัน

ดังนั้น เรามาที่นี่ มาปฏิบัติธรรมะ ต้องละ ละการ ละงาน ละหน้าที่ ถึงเวลงเวลาหน้าที่ของเรา ต้องปฏิบัติ เเต่ให้มันคิด มันคิดเเต่อย่าเข้าไปในความคิด ไม่ให้เข้าไปในความคิด มันคิดปุ๊บ เรารู้ เราเห็น เราเข้าใจ มาอยู่กับความรู้สึก เเล้วความคิดมันหยุดไปทันที เเล้วมันตั้งข้อหา ตั้งข้อใหม่ ตั้งเรื่องใหม่ขึ้นมาคิดอีกเเล้ว มันคิดอีก มาเรื่องนี้ มันก็ไม่คิดเหมือนเรื่องเดิม มันต้องคิดเป็นเรื่อง เป็นเรื่องขึ้นมา เราก็ยิ่งรู้เป็นเรื่อง เป็นเรื่องขึ้นไป

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

จิตหลุดพ้น คือ รู้ทันกับความคิดนั่นเอง

จึงว่าเมื่อรู้เท่าทันเหตุการณ์กับความคิด เราเรียกว่า จิตหลุดพ้น เเต่คำพูดว่า จิตหลุดพ้น คือ รู้ทันกับความคิดนั่นเอง ความคิดนั้นจะหยุดได้ เรียกว่า เราห้ามมันได้ เเต่ไม่ใช่ว่าห้ามไม่ให้มันคิด ให้มันคิดไปตามเรื่องของมัน เเต่ เราเป็นเพียง ดู มัน เท่านั้นเอง ดังนั้นเราไปเข้าใจว่า โทสะ โมหะ โลภะ มันเกิดขึ้นมันเป็นทุกข์ ก็มันเป็นทุกข์เพราะเราไปห้ามมันไม่ให้มันคิด อันนี้เราให้มันคิด เเต่เรารู้จักมัน มันยิ่งคิด มันจะคิดไปเรื่องโทสะ คิดไปเรื่องโมหะ คิดไปเรื่องโลภะ เราก็รู้ หรือ มันคิดดี เราก็รู้ มันคิดชั่ว เราก็รู้ มันเป็นอย่างนั้น ความรู้นี้เเหละ จึงเรียกว่า มันเป็นสิ่งที่ให้สัมผัสถึงว่า ให้รู้ ให้เห็น ให้เข้าใจ รู้ทัน จนมันคิดอะไรไม่ได้ จึงเรียกว่า รู้ทัน รู้เท่ารู้ทัน รู้จักกันรู้จักเเก้ ท่านว่า ถึงที่สุดของทุกข์ ”

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

สมุทัยคือคิด มรรคคือดูความคิด

ถ้าหากไม่รู้สึกตัวในขณะไหนเวลาใดแล้ว เรียกว่าคนหลงตน ลืมตัว หลงกายลืมใจ คล้ายๆ คือเราไม่มีชีวิตนี่เอง ให้ดูใจ เมื่อคิดขึ้นมา เห็น รู้เข้ามา ทำความเคลื่อนไหว มันจะวาง วางใจ มันจะมาอยู่กับความรู้สึก เมื่อมาอยู่กับความรู้สึกแล้วปัญญามันจะเกิด คนจะล่วงทุกข์ไปได้เพราะปัญญา

ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดไปถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนการวิดน้ำออกไปจากก้นบ่อ

ทำอย่างนี้นานๆ เข้า สติจะเต็มและสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิด ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด

แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่

หลักพุทธศาสนาจริงๆ สอนให้ละกิเลส คือ ความอยาก นี้เอง แต่ตัวที่มันอยาก เรากลับไม่เห็น ไม่รู้ เราต้องดูจิตดูใจ ให้เข้าใจทันทีว่า เออ กิเลสเกิดขึ้นแล้ว ต้องเห็นที่ตรงนี้

การเจริญสติ อันเป็นฐานของการเจริญสมาธิ เจริญปัญญา จะทำให้ธาตุพุทธะในตัวเรา แตกตัวและเบ่งบาน

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ Buddhism Vipassana วิปัสสนา ศาสนาพุทธ

ความรู้สึกตัวเหมือนเม็ดฝน

เราเดินไปเดินมา ก้าวเท้าไปก้าวเท้ามา ทำความรู้สึก แต่ไม่ได้พูดว่า ซ้ายย่างหนอขวาย่างหนอ เพียงเอา “ความรู้สึก” เท่านั้น อันความรู้สึกนั่นแหละเป็นการเจริญสติ ความระลึก ได้ กับ ความรู้สึก นั่นแหละคืออันเดียวกัน

บัดนี้ เมื่อเราทำความคุ้นเคยมันบ่อยๆ เมื่อมันคิด พูดขึ้นมา เราจะ รู้สึก
อันความรู้สึกนั้น ท่านเรียกว่า มีสติ มันรู้สภาพหรือสภาวะของ ความคิด
เมื่อเราทำอย่างนี้ ความทุกข์ มันหายไปเอง

ใครๆ ก็ทำได้ เพราะเรา ไม่ต้องการความทุกข์ สมมุติเหมือนกันกับเราอยู่ที่มืด เราไม่ต้องการความมืด แต่เราไม่รู้จักวิธีที่จะไล่ความมืดได้ เราเพียงจุดไม้ขีดไฟหรือจุดเทียนขึ้นมา ความมืดมันหายไปเอง

เมื่อเราทำความรู้สึกตัวอยู่อย่างนี้ ความโกรธ ความโลภ ความหลง มันหายไป เพราะมันไม่ได้มีอยู่แล้ว ที่มันโกรธ มันโลภขึ้นภายในจิตใจนั้น เพราะเราไม่ตื่นตัว ไม่เห็นภายในจิตใจนั่นเอง

ใครจะพูดอย่างไรก็ตามไม่ต้องไปสนใจ อย่างที่ญาติโยมทั้งหลายที่นั่งฟังอาตมาพูดในขณะนี้ อาตมาเข้าใจว่าทุกคน ไม่มี โกรธ ใช่ไหม? เมื่อไม่มีโกรธ นี้เราจะไปหาความโกรธทำไม? ก็โกรธมันไม่ได้มีอยู่แล้ว

บัดนี้อาจารย์ทั่วไปสอนให้เราไปละความโกรธ จะไปหาความโกรธมัน ไปหาของไม่มี มันก็ไม่เห็น เมื่อมันไม่เห็น เราก็ไปทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล
ให้เป็นอุปนิสัยเป็นปัจจัยต่อ หลังจากการตายแล้ว อันนั้นแปลว่าคนไม่รู้จริง คนคาดคิดดลเดาเอาเอง

แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านสอนว่า อดีต อนาคต ทำอะไรให้เราไม่ได้ มันจะทำให้เราได้ตั้งแต่ใน ขณะนี้ ในปัจจุบันนี้เอง ท่านจึงสอนเรื่อง ปัจจุบัน เท่านั้น เรื่องอดีต อนาคต ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า

คำว่าให้ทำความรู้สึกอยู่ตลอดเวลานั้น ไม่ได้ไม่ให้ไปทำการทำงานอื่นใดทั้งหมด ให้ไปเดินจงกรม หรือสร้างจังหวะอยู่ตลอดเวลาหรือ? ไม่ใช่อย่างนั้น คำว่าให้ทำอยู่ตลอดเวลานั้น หมายถึง เราซักเสื้อ ซักผ้า ถูบ้าน กวาดบ้าน ล้างถ้วยล้างจาน เขียนหนังสือ หรือซื้อขายก็ได้ เพียงเรามีความรู้สึก เท่านั้นเอง

ความรู้สึก อันนี้แหละ มันจะสะสมเอาไว้ทีละเล็กละน้อย เหมือนกับที่เรามีขัน หรือโอ่งน้ำที่รองรับอันดี ฝนตกลงมาทีละนิดๆ เม็ดฝนเม็ดน้อยๆ ตกลงนานๆ แต่มันเก็บไว้ดี น้ำก็เลยเต็มโอ่งเต็มขันขึ้นมา

การสร้างจังหวะ

การสร้างจังหวะ
การเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญานั้น ต้องมี “วิธีการ” ที่จะนำตัวเรา ไปสู่ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญาได้ การทำทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีวิธีการ จึงจะเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้
ดังนั้นการมาที่นี่ต้องพยายาม ไม่ต้องนั่งนิ่งๆ สอนกันแนะนำกัน ให้มีวิธีทำ โดยเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ทำเป็นจังหวะ
วิธีทำนั้น ก็ต้องนั่ง แต่ไม่ต้องหลับตา อันนี้มีวิธีทำ นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ ทำความรู้สึกตัว
พลิกมือขวาตะแคงขึ้น…ทำช้าๆ…ให้รู้สึก ไม่ใช่(พูด) ว่า พลิกมือขวา อันนั้นมากเกินไป เพียงแต่ว่าให้รู้สึกเท่านั้นเอง พลิกมือขึ้นให้รู้สึก หยุดไว้ ยกมือขึ้นให้รู้สึก ให้มันหยุดก่อน ให้มันหยุด มันไหวไปให้รู้ขึ้นครึ่งตัวนี่ ให้มันรู้ แล้วก็เอามาที่สะดือ
อันนี้มีจังหวะซ้าย-ขวา เป็น ๖ จังหวะ เวลาเอามือออกมาก็ซ้าย-ขวา รวมกันเข้ามี ๘ จังหวะ อันนี้เป็นจังหวะ เป็นจังหวะ
การเจริญสตินั้น ท่านว่าให้ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็ทำความรู้สึกนี่เอง เมื่อพูดถึงความรู้สึกแล้ว ก็พูดวิธีปฏิบัติพร้อมๆ กันไป ทุกคนทำตามอาตมาก็ได้
เอามือเรามาวางไว้บนขาทั้งสองข้างนั้นเอง คว่ำมือไว้ ตามเท่าที่อาตมาได้ทำทำอย่างนี้
พลิกมือขวาตะแคงขึ้น ทำช้าๆ ให้มีความรู้สึกตัว อันความรู้สึกตัวนั้น ท่านเรียกว่า สติ
ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว แล้วก็รู้สึกว่ามันไหวขึ้นมา แล้วก็มันหยุดนิ่ง ก็รู้สึกตัว
บัดนี้ เลื่อนมือขวามาที่สะดือเรา เมื่อมือมาถึงสะดือเรา ก็มีความรู้สึกว่ามันหยุดแล้ว เราก็รู้
พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้นที่ขาซ้าย ชันไว้ แล้วก็มีความรู้สึก
ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว ให้มีความรู้สึกหยุดไว้
บัดนี้ เลื่อนมือซ้ายเข้ามาทับมือขวาที่สะดือ แล้วก็รู้สึก อันนี้เรียกว่า การเจริญสติ อันความรู้สึกนั้น ท่านเรียกว่า ความตื่นตัว หรือว่า ความรู้สึกตัว เรียกว่า สติ
เลื่อนมือขวาขึ้นหน้าอก ทำช้าๆ มาถึงหน้าอกแล้ว เอาหยุดไว้
เลื่อนมือขวาออกมาตรงข้าง ไหวมาช้าๆ อย่างนี้ เมื่อมาถึงที่ตรงข้าง หยุด
แล้วก็ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงไว้ ให้รู้สึกตัว
คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา ให้มีความรู้สึกตัว
เลื่อนมือซ้ายขึ้นหน้าอก ให้มีความรู้สึกตัว
เอามือซ้ายออกมาที่ตรงข้าง ให้มีความรู้สึกตัว
ลดมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ตะแคงเอาไว้ให้มีความรู้สึกตัว
คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ให้มีความรู้สึกตัว

การเดินจงกรม
เดินจงกรม ก็หมายถึง เปลี่ยนอิริยาบถนั่นเอง ให้เข้าใจว่า เดินจงกรมเพื่ออะไร? (เพื่อ) เปลี่ยนอิริยาบถ คือนั่งนานมันเจ็บแข้งเจ็บขา บัดนี้ เดินหลาย (เดินมาก) มันก็เมื่อยหลังเมื่อยเอว นั่งด้านหนึ่ง เขาเรียกว่า เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนให้เท่าๆ กัน นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง อิริยาบถทั้ง ๔ ให้เท่าๆ กัน แบ่งเท่ากันหรือไม่แบ่งเท่ากันก็ได้ เพราะว่าเราไม่มีนาฬิกานี่ น้อยมากอะไร ก็พอดีพอควร เดินเหนื่อยแล้ว ก็ไปนั่งก็ได้ นั่งเหนื่อยแล้ว ลุกเดินก็ได้
เวลาเดินจงกรม ไม่ให้แกว่งแขนเอามือกอดหน้าอกไว้ หรือเอามือไขว้ไว้ข้างหลังก็ได้
เดินจงกรม ก็อย่าไปเดินไวเกินไป อย่าไปเดินช้าเกินไป เดินให้พอดี
เดินไปเดินมา ก้าวเท้าไปก้าวเท้ามาทำความรู้สึก แต่ไม่ได้พูดว่า ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ไม่ต้องพูด เพียงเอาความรู้สึกเท่านั้น
เดินไปก็ให้รู้ นี่เป็นวิธีเดินจงกรม ไม่ใช่ว่าเดินจงกรม เดินทั้งวันไม่รู้สึกตัวเลย อันนั้นก็เต็มทีแล้ว เดินไปจนตาย มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เดินอย่างนั้น
เดินก้าวไป ก้าวมา รู้ นี่(เรียก)ว่าเดินจงกรม

หลวงพ่อ เทียน จิตฺตสุโภ