รายงานปฏิบัติอาจาริยบูชา ๕๙
๑๐๕ ปี ชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
ชื่องาน “กุญแจดอกเอก”
ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ๑๐-๑๑ ก.ย. ๕๙
กุญแจดอกเอก (๑)
เช้าวันเสาร์ที่ ๑๑ ก.ย. ๕๙
ในความวุ่นวายมีความสงบซ่อนอยู่
แทบไม่น่าเชื่อว่าเมืองหลวงอันแออัด
จะยังคงมีความงดงามของธรรมชาติ
ซ่อนเร้นอยู่
สวนโมกข์ กว้างไกลสุดตา
สนามหญ้าเขียวขจีกว้างใหญ่
คล้ายผ้าเช็ดหน้าหนานุ่ม
คอยซับเหงื่อไคลแห่งความอ่อนล้า
และน้ำตาแห่งความทุกข์
ทะเลสาบอันว่างเปล่า
รองรับความคิดฟุ้งซ่าน
ให้ผ่านลอยไปบนผิวน้ำ
อย่างเยือกเย็น
เช่นเดียวกับสวนสาธารณะทั่วไป
ที่มีคนวิ่งออกกำลังกาย ขี่จักรยาน
และเดินตามหาโปเกมอน
วันนี้ศิษย์หลวงพ่อเทียน
ต่างมารวมตัวกันเพื่อระลึกถึงพระคุณ
ที่หลวงพ่อเทียนได้ชี้ทางสว่าง
แห่งการพ้นทุกข์
และเพื่อตามหากุญแจดอกเอก
ที่จะไขออกจากประตูแห่งสังสารวัฏ
โดยมีหลวงพ่อมหาดิเรก
ผู้ที่ได้ไขประตูออกไปแล้ว
แต่ท่านก็ยังมีเมตตา
ยื่นมือกลับมาช่วยดึง
ผู้ที่ยังคงวนเวียนว่ายอยู่
มีผู้ที่ต้องการพ้นทุกข์มารวมกัน
กว่าสองร้อยคน
ทำให้ผู้ปฏิบัติรู้สึกอุ่นใจ
ที่ยังมีเพื่อนร่วมทุกข์อีกมาก
แต่ละคนมีเบื้องหลัง
ที่มาแห่งความทุกข์ต่างกัน
เปรียบเหมือนเครื่องดนตรีต่างชนิด
ที่มีเสียงทุ้มแหลมต่างกัน
หลวงพ่อจึงเป็นเหมือนคอนดักเตอร์
วงซิมโฟนีออเคสตร้า
ที่จะต้องควบคุมการบรรเลง
เพลงแห่งชีวิตจิตใจ
ให้เป็นเพลงแห่งความรู้สึกตัว
อันมีท่วงทำนองที่ไร้ความหมาย
ไร้เสียง ไร้โน้ต ไร้ผู้ขับร้อง
และอยู่เหนือความไพเราะใดๆ
มีนักดนตรีใหม่ประมาณห้าสิบคน
เมื่อหลวงพ่อได้แสดงธรรมเบื้องต้น
อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับความแตกต่าง
ของสมถะและวิปัสสนาแล้ว
จึงได้มอบหมายให้หลวงพ่อสมพงษ์
เจ้าอาวาสวัดถ้ำแสงเทียน
นำผู้ปฏิบัติใหม่แยกไปที่ชั้นสาม
เพื่อแนะนำการสร้างจังหวะ ๑๔ จังหวะ
และเดินจงกรม
หลังจากนั้นจึงกลับมารวมกัน
ที่ห้องโถงใหญ่
เพื่อบรรเลงเพลงแห่งความรู้สึกตัว
ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนรับประทานอาหารกลางวัน
โดยมีภัตตาคารสีฟ้าเป็นเจ้าภาพ
กุญแจดอกเอก (๒)
เช้าวันเสาร์ที่ ๑๑ ก.ย. ๕๙
หลวงพ่อสมพงษ์แนะนำวิธีการ
เจริญสติแบบเคลื่อนไหว
แก่ผู้ปฏิบัติใหม่ที่ชั้นสามของอาคาร
กุญแจดอกเอก (๓)
เช้าวันเสาร์ ๑๐ ก.ย. ๕๙
หลวงพ่อสมพงษ์พาผู้ใหม่
เดินจงกรมรอบอาคารชั้นสาม
เพื่อหาทางออกจากที่คุมขัง
แห่งสังสารวัฏ
แล้วกลับมารวมกัน
กับผู้เก่าที่ห้องโถงรวม
กุญแจดอกเอก (๔)
เช้าวันเสาร์ ๑๐ ก.ย. ๕๙
พระธรรมเทศนาที่หลวงพ่อมหาดิเรก
ได้แสดงในเช้าวันเสาร์นี้
มีเนื้อหาที่ซาบซึ้งกินใจยิ่งนัก
ยากที่จะนำมาบรรยายแบบสรุปย่อ
มีการบันทึกภาพและเสียงไว้แล้ว
อย่างครบถ้วน
ซึ่งจะได้มีการเผยแพร่ในยูทูปต่อไป
ทุกครั้งที่หลวงพ่อแสดงธรรม
ท่านจะมีเครื่องบันทึกเสียง
มัดติดไว้กับไมโครโฟนเสมอ
แม้จะมีน้ำหนักไม่มาก
แต่เมื่อต้องยกติดต่อกันหลายชั่วโมง
ในทุกๆ วัน
ทำให้หลวงพ่อมีอาการเจ็บที่ไหล่
แต่ท่านก็ยังคงบันทึกเสียงเช่นนี้ทุกครั้ง
ด้วยความเมตตาที่ท่านมีต่อลูกศิษย์
เมื่อผู้ใหม่ได้เรียนรู้วิธีการสร้างจังหวะแล้ว
จึงกลับมาปฏิบัติร่วมกับผู้เก่าในห้องโถง
เสียงเพลงแห่งความรู้สึกตัว
ก็ได้บรรเลงกึกก้องไปทั่วฮอลล์
ไม่ต่างจากคอนเสิร์ตเอ็กโซจากเกาหลี
ที่มาแสดงในกรุงเทพวันเดียวกัน
แต่แฟนคลับหลวงพ่อ
ไม่ต้องเสียค่าบัตรผ่านประตูแพงลิบลิ่ว
ทุกอย่างฟรี
แถมยังได้ความรู้สึกตัว
กลับไปเป็นที่ระลึกอีกต่างหาก
กุญแจดอกเอก (๕)
บ่ายวันเสาร์ ๑๐ ก.ย. ๕๙
หลังจากที่ผู้ปฏิบัติ
ได้ฝึกสตินอกรูปแบบ
โดยการรับประทานอาหารกลางวันแล้ว
จึงได้กลับเข้ามาในห้องโถง
เพื่อค้นหากุญแจต่อไป
ความร้อนจากการเผาผลาญอาหาร
ในร่างกายของแต่ละคน
ทำให้ห้องปฏิบัติกลายสภาพเป็น
เตาบาร์บีคิวขนาดใหญ่
ธาตุดินที่เพิ่มขึ้น
ทำให้ผู้ปฏิบัติเริ่มรู้สึกหนักที่หนังตา
และมีทีท่าว่าจะปิดลง
ผู้ปฏิบัติเก่าส่วนใหญ่
พอจะรู้เทคนิคการเอาตัวรอด
จากเสนามารได้บ้างแล้ว
ก็จะรู้วิธีปิ้งบาร์บีคิวกิเลส
ให้กลายเป็นตัวตื่นรู้ได้บ้าง
หลวงพ่อจึงได้แยกผู้ปฏิบัติใหม่
ให้มารวมกันที่ลานปฏิบัติด้านนอก
เพื่อสอนวิธีการเปลี่ยนอิริยาบถ
ในขณะนั่งสร้างจังหวะ
การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรู้สึกตัว
โดยสังเกตความหนักเบาที่เปลี่ยนไป
จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิปัสสนา
ซึ่งต่างจากการแช่ในอิริยาบถเดิมนานๆ
อันเป็นวิธีการของสมถะ
เปรียบได้กับไก่ย่างห้าดาว
ที่หมุนด้วยเครื่องจักรไปเรื่อยๆ
โดยไม่หยุด
เป็นวิธีการของสมถะ
แต่วิธีการของวิปัสสนา
เปรียบได้กับไก่ย่างวิเชียรบุรี
ที่ผู้ปิ้งจะต้องใช้ความรู้สึก
และความชำนาญ
ในการสังเกตสีและดมกลิ่น
จึงจะรู้ว่าควรจะกลับด้านเมื่อใด
เขาจะต้องคอยควบคุมความร้อน
โดยการเติมถ่าน เกลี่ยถ่าน ให้พอดี
แทนที่จะเสียบปลั๊กทีเดียวแบบไก่หมุน
และเมื่อชำนาญงานมากแล้ว
เขาก็สามารถหันไปตำส้มตำ
หรือปรุงอาหารอื่นๆ เช่น ซุปหน่อไม้
ลาบน้ำตก เสือร้องไห้ ฯลฯ
ได้ในขณะเดียวกัน
หลวงพ่อได้สาธิตวิธีการเปลี่ยนอิริยาบถ
โดยการเรียงลำดับท่านั่ง
เช่น นั่งพับเพียบซ้าย
นั่งพับเพียบขวา นั่งขัดสมาธิชั้นเดียว
นั่งขัดสมาธิสองชั้น นั่งขัดสมาธิสามชั้น
นั่งทับส้น นั่งคุกเข่า นั่งชันเข่า
นั่งเหยียดขา นั่งเก้าอี้
และท่าสุดท้ายคือ นอน
กุญแจดอกเอก (๖)
บ่ายวันเสาร์ ๑๐ ก.ย. ๕๙
ในการปฏิบัติบูชาครั้งนี้
หลวงพ่อเน้นเรื่องการทำวิปัสสนา
ที่ถูกต้อง
เพราะผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่
หลงไปทำสมถะ
แต่คิดว่าตัวเองกำลังทำวิปัสสนาอยู่
การปรับเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ
โดยรับรู้ถึงความหนักเบาที่เปลี่ยนไป
คือกุญแจดอกเอก
ที่ผู้ปฏิบัติมักมองข้ามไป
เมื่อชำนาญแล้ว
ก็จะเห็นความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ
ที่เกิดจากความหนักเบานั้น
หลังจากที่ผู้ปฏิบัติใหม่ได้เรียนรู้
เทคนิคการบริหารท่านั่งแล้ว
จึงได้กลับมาปฏิบัติรวมกัน
ที่ห้องโถงรวม
ต่อจากนั้นจึงได้เวียนทักษิณาวัตร
รอบอาคารชั้นสาม
เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่หลวงพ่อเทียน
ซึ่งท่านได้ละสังขารไป
เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๑
บริเวณงานโดยรอบ
ตกแต่งประดับประดาด้วยดอกบัวสีขาว
และภาพประวัติหลวงพ่อเทียน
เรียบร้อย งดงาม สะอาดตา
สร้างความรู้สึกเบิกบาน อิ่มเอิบใจ
ให้แก่ผู้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง
กุญแจดอกเอก (๗)
เช้าวันอาทิตย์ ๑๑ ก.ย. ๕๙
เหมือนเส้นผมบังภูเขา
กูญแจดอกเอกที่เราค้นหากัน
วางอยู่ข้างหน้า
แต่เรามองข้ามไป
มันหาง่ายมาก
จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะใช่
มีผู้ใหม่มาเพิ่มยี่สิบกว่าคน
หลวงพ่อสมพงษ์แนะนำ
วิธีการสร้างจังหวะที่ลานด้านนอก
แล้วจึงกลับมารวมกันที่ห้องโถง
เมื่อทุกคนเข้าใจ
วิธีการสร้างจังหวะแล้ว
ถึงเวลาที่หลวงพ่อมหาดิเรก
จะได้เปิดดวงตาธรรม
ด้วยการมอบกุญแจดอกเอก
ไห้แต่ละคนไปไขกันเอง
แล้วแต่ศรัทธาและความเพียร
ว่าจะไขออกหรือไม่
กุญแจดอกเอกนั้น
คือการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ
ในขณะนั่งสร้างจังหวะ
เรียงตามลำดับ
แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน
ในการดีไซน์ท่านั่ง
ตามความสบาย และความถนัด
เช่น พับเพียบซ้าย พับเพียบขวา
คุกเข่าแบบเทพบุตร เทพธิดา
ขัดสมาธิราบ ขัดสมาธิเพชร
ชันเข่า นั่งทับส้น นั่งเหยียดขา ฯลฯ
รู้สึกได้ถึงเวทนาที่เปลี่ยนไป
ในขณะเปลี่ยนอิริยาบถ
มันง่ายจนแทบไม่น่าเชื่อ
และไม่อยากทำตาม
เพราะความเคยชิน
และความเพลินในสมถะ
แต่ถ้าผู้ใดฝ่าด่านความเคยชิน
และความเพลินออกไปได้
โดยใช้เทคนิคการปรับเปลี่ยนท่านั่ง
ตามลำดับเช่นนี้
ดวงตาธรรมที่ปิดอยู่ก็จะเปิดออก
ให้ได้มองเห็นแสงสว่าง
และหนทางเดินสู่พระนิพพาน
อย่างแน่นอน
มีผู้ปฏิบัติใหม่เป็นชาวต่างชาติ
หลังจบการปฏิบัติอาจาริยบูชาแล้ว
หลวงพ่อจึงได้แสดงธรรม
เป็นภาษาอังกฤษ
ที่ห้องประชุมชั้นสาม
รายงานปฏิบัติบูชา ๕๙
๑๐๕ ปีชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
ชื่องาน “กุญแจดอกเอก”
ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ๑๐-๑๑ ก.ย. ๕๙
รายงานปฏิบัติอาจาริยบูชา ๕๙
๑๐๕ ปีชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
ชื่องาน “กุญแจดอกเอก”
ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ๑๐-๑๑ ก.ย. ๕๙
อัลบั้มภาพ กุญแจดอกเอก (๑)
อัลบั้มภาพ กุญแจดอกเอก (๒)
อัลบั้มภาพ กุญแจดอกเอก (๓)
อัลบั้มภาพ กุญแจดอกเอก (๔)
อัลบั้มภาพ กุญแจดอกเอก (๕)
อัลบั้มภาพ กุญแจดอกเอก (๖)
อัลบั้มภาพ กุญแจดอกเอก (๗)