พระธรรมเทศนาโดย พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท “อุบายฝึกจิตใจให้อยู่กับปัจจุบัน” (เช้าวันที่ 14 ธ.ค. 2559, Sacred Falls International Meditation Center. Wat Lao Buddha Sacksith. USA Hawaii)
(ข้อความถอดคำบรรยายอยู่ใต้คลิปนี้ และในเพจพลิกใจให้ตื่นรู้)
Double Check
การหยุดและการเคลื่อน
ถ้าเราตามรู้ไม่ทัน
ก็เป็นการเกิดดับของอวิชชา
บางทีเรายกมืออยู่ดีๆ
พอแมลงวันมาตอมปั๊บ
มือมันไปเลย เราไม่ทันรู้
แต่เราสามารถตามรู้ได้
โดยยกมือขึ้นอีกครั้ง
นี่คือวิธีแก้ ทำซ้ำอีกทีหนึ่ง
ถ้าทำด้วยความไม่รู้
ทำซ้ำอีกทีหนึ่งให้ช้าลง
ถ้าเราลืมแล้วลืมเลย โดยที่ไม้แก้
มันจะกลายเป็นนิสัย
เรายกมือ ถ้าลืมรู้สึกตัว
ให้ยกมืออีกครั้งแบบรู้สึกตัว
เรียกว่าวิธีเกิดและดับ
เกิดคือมันเผลอไปโดยไม่รู้ตัว
ซ้อมกลับอีกทีอย่างรู้ตัว คือดับ
ดับความไม่รู้
ความไม่รู้เกิดเพราะเราเผลอ
ลักษณะของการทำซ้ำครั้งที่สอง
มันเป็นการแก้
ไม่ว่าเราจะยกอะไรก็ตาม
ถ้าซ้อมอย่างนี้บ่อยๆ
การปฏิบัติของเราจะก้าวหน้าได้ไวมาก
คำว่าก้าวหน้าหมายความว่า
รู้เท่าทันทุกอย่างที่เราตั้งใจ ไม่ตั้งใจ
ถ้าเราสามารถตามรู้ได้อย่างนี้
ตัวเพลิน ตัวหลง ตัวลืม
ก็จะค่อยๆ ลดกำลังลง
เพราะเราอาศัยการทำซ้ำ
เรียกว่า Double Check
แก้เกมด้วยการทำซ้ำ
การทำซ้ำช่วยได้เยอะเลย
เพราะมันเป็นการแก้เกม
ของความเผลอ ความไม่รู้ตัว
เหมือนเราตัดไม้ไม่ขาด
ตัดซ้ำอีกทีหนึ่ง
ตัดซ้ำด้วยความตั้งใจ มักจะขาด
มีความหนักหน่วงพอ
การเผลอ การหลง เราห้ามไม่ได้
แต่เราสามารถแก้ได้
การเกิด การดับ เราห้ามไม่ได้
แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลง
การเกิดดับที่ไม่รู้
ให้เป็นการเกิดดับที่รู้ได้
แต่เราต้องมีความตั้งใจที่จะปรับที่จะแก้
ถ้าเราไม่มีความตั้งใจ
เผลอแล้วก็เผลอเลย หลงแล้วก็หลงเลย
ถ้าไม่คิดจะแก้ มันก็จะกลายเป็นความเคยชิน
ถ้าการขยับเขยื้อนใดๆ เราตั้งใจที่จะดู
นี่คือความก้าวหน้าของการปฏิบัติ
ไม่ใช่ความก้าวหน้าของการรู้อย่างเดียว
เป็นความก้าวหน้าของศรัทธา
ความก้าวหน้าของความเพียร
ความก้าวหน้าของสติ สมาธิ ปัญญา
ถ้าเรารู้หัวเชื้อของวิชชาตัวนี้ได้ดี
มันสามารถแก้ปัญหาเรื่องอื่นได้หมด
ที่เกิดของรูปคือนาม
เพราะปัญหาเรื่องรูป มันหยาบ
ปัญหาต่างๆ มันเกิดเพราะรูป
เรามาดูที่เกิดของรูปคือนาม
ถ้าเรามาจับตัวรู้ คือนามให้ชัดไว้
เราจะรู้เท่าทันรูปหมด
แต่ถ้าเราไม่จับความรู้สึกตัว
ที่เป็นนามให้ชัดเสมอ
เราก็จะไปสับสนเรื่องรูปต่างๆ
มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ตามไม่ทัน
เราก็จะหลงเข้าไปในเกมของมัน
แต่ถ้าเรารู้เท่าทัน เราเป็นผู้กำหนดเกม
การเล่นในแต่ละเหตุการณ์
เราก็จะไม่ตกเป็นผู้เสียเปรียบ
หรือเสียท่าในเรื่องนั้น
การปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน
ถ้าเราเป็นผู้กำหนดรู้อยู่
แม้ว่าความเคยชิน ความหลงลืม อวิชชา
มันเป็นของเก่า ของเดิมก็ตาม
แต่มันเป็นธรรมชาติที่มีอยู่แค่นั้น เพิ่มไม่ได้
ที่มันเยอะเพราะเราอยู่กับมันมานาน
ตัวรู้ที่เรากำหนดขึ้นเป็นของใหม่
เราสามารถเพิ่มได้
แต่ตัวไม่รู้เพียงแต่เราหลงไป
มันก็จะเพิ่ม เพิ่มตรงที่เราไม่แก้
จิตแท้ ไว ชัด คม ละเอียด
การปฏิบัติก็คือตามรู้สิ่งเหล่านี้
รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจนึกคิด ที่มันมีอยู่
กายเคลื่อนไหวใจรู้
ตามรู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
แล้วเราจะสัมผัสได้ถึงความละเอียด
ความสุขุมลุ่มลึกของความรู้สึก
มันเป็นความเย็น ความสบาย
ความสงบ ความผ่อนคลาย
ซึ่งบางครั้งถ้าเราตั้งใจจริงๆ
มันจะเป็นความสุขที่เราไม่เคยสัมผัส
แต่พอจิตได้สัมผัสสักครั้ง
มันจะจำได้ถึงความนุ่มนวลเยือกเย็น
ต่อไปถ้ามันมีอาการของความหยาบ
ความอยาก ความใคร่ ความโกรธ ความหลง
อะไรต่างๆ มันจะเห็นชัด
เหมือนเราเห็นไฟชัด
หรืออะไรที่มันสัมผัสแล้วร้อน
เราก็จะถอยได้เร็ว
แต่ถ้าความรู้สึกของเรามันด้าน หนา
แม้สิ่งนั้นมาอยู่ใกล้ เราก็ยังสัมผัสไม่ได้
เหมือนเราใส่เสื้อผ้าหนาๆ
เราไปใกล้เตาไฟ ใกล้ความร้อน
เราจะไม่รู้สึกร้อน จนกระทั่งไฟไหม้ผ้า
หน้าหนาวนอนห่มผ้าอยู่ใกล้กองไฟ หลับไป
ตื่นขึ้นอีกทีไฟไหม้แล้ว
การที่เราทำความรู้สึกบ่อยๆ
จิตของเราก็จะเบาบางต่ออารมณ์ต่างๆ
เมื่อมีอารมณ์ใดมากระทบปั๊บ
เราจะสัมผัสได้ไว เรียกว่า sensitive
มันก็เกิดการระมัดระวังได้ไว
สัตว์ป่าไวกว่าสัตว์บ้าน
สังเกตได้จากสัตว์ป่าและสัตว์บ้าน
สัตว์บ้านมันจะคุ้นเคย
มันก็จะไม่ระมัดระวังภัยแล้ว
อะไรเกิดขึ้นปั๊บ ถึงตัวเลย ก็จับมันได้
แต่สัตว์ป่ามันระแวดระวัง
พอได้ยินเสียงมาแต่ไกลมันต้องหลบ
หรือได้กลิ่นมาแต่ไกล มันต้องหลบ
ฉันใดก็ดี จิตของเราที่มัน sensitive
ต่อการรับรู้ มันจะรู้ก่อนว่า
อะไรเป็นพิษเป็นภัย
อะไรเป็นเหตุของทุกข์
อะไรทำให้ไม่สบาย มันจะรู้ไว
เราสามารถป้องกันตัวเอง หลบได้ไว
สัญญาณของความอยาก
สัญญาณของความคิด
เมื่อก่อนมันซึมเข้าไปเลย
แต่พอเราปฏิบัติ ตัวรู้มากเข้าๆ
พอความคิดเข้ามา
มันจะเห็นชัดมากเลย
พอเห็นชัด เราสามารถหลบได้เร็ว
กำหนดรู้ได้เร็ว
เราจึงทำความรู้สึกเหล่านี้
ค่อนข้างช้า ให้ได้ชัดก่อน
เพื่อที่จิตของเราจะสามารถรับรู้
สิ่งที่หยาบๆ สิ่งที่ไม่ชัดได้ไว
จิตเหมือนหนังสติ๊ก
แม้แต่เวทนาในร่างกายของเรา
พอทำไปนานๆ เราจะสัมผัสรู้ได้เร็วขึ้น
ว่าตัวรู้สึกไม่สบาย หนัก มันกินลึกแค่ไหน
ตามรู้มันไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งเห็นเวทนาเข้าไปบีบคั้น
ลึกตื้นแค่ไหน
พอเราขยับเราก็จะเห็นการคลายของมันได้ชัด
การซ้อม การเฝ้าดูอย่างนี้บ่อยๆ
ชีวิตของเราก็จะกลับเข้าสู่ปัจจุบันได้ง่าย
เมื่อจิตมาสู่ปัจจุบันได้ง่าย
มันก็จะมาอยู่กับความเบาสบาย
ความผ่อนคลาย
เหมือนเราเห็นเด็กดึงหนังสติ๊ก
พอปล่อยปั๊บ มันจะหย่อนทันที
เวลามันออกจากเราไป พอปล่อยปั๊บ
มันก็จะหดเข้าหาเรา
จิตของเราเหมือนกัน
ถ้ามันยืดไปในอดีต อนาคต
จิตของเราจะรู้สึกตึงและเกร็ง
แต่พอดึงจิตกลับมาปั๊บ
มันก็จะผ่อนคลาย
ตัวปัจจุบันจะเกิดการผ่อนคลาย
โดยอัตโนมัติของมัน
จิตเหมือนนักฟุตบอล
เหมือนนักฟุตบอลหรือนักกอล์ฟ
ตราบใดที่ลูกยังไม่เข้าประตู
เขาก็จะวิ่งตามลูกอยู่อย่างนั้น
พยายามทำให้เข้าจนได้
ตัวปัจจุบันเหมือนประตูฟุตบอล
ถ้าหากเตะลูกเข้าประตูได้
ทุกคนก็หยุด ตั้งเกมกันใหม่
ช่วงไหนที่ลูกยังไม่เข้าประตู
ก็วิ่งวนอยู่อย่างนั้น
ตราบใดที่จิตยังไม่เข้าสู่ปัจจุบัน
จิตของเราจะวิ่งวนไล่วัตถุนั้นไปเรื่อยๆ
ไม่มีที่สิ้นสุด
เหนื่อยล้าจะเป็นจะตายก็ต้องยอม
ความจริงจิตมันวิ่งเพื่อหาปัจจุบัน
แต่มันไม่รู้ว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหน
เพราะมันไม่เคยสัมผัสอย่างจริงจัง
แต่พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ปั๊บว่า
ปัจจุบันคือกายกับใจมาอยู่ด้วยกันนั่นเอง
เหมือนประตูกับลูกบอลมาอยู่ด้วยกัน
แล้วตั้งเกมใหม่
จิตของเรามาอยู่กับปัจจุบันปั๊บ
อดีตอนาคตจบ จิตไม่ต้องไปวิ่งว่อน
แต่พอมีความอยากขึ้นมาใหม่
จิตมันก็วิ่งใหม่
นั่นหมายความว่า จิตออกจากปัจจุบัน
เอาลูกบอลออกจากประตู
มาตั้งเตะกันใหม่ ก็วิ่งต่อ
พอตัวปัจจุบันปรากฏ คือชัยชนะเกิดขึ้น
ลูกบอลเข้าประตูแต่ละครั้ง
หมายถึงชัยชนะเกิดขึ้นแต่ละครั้งไป
จิตกลับเข้าสู่ปัจจุบันแต่ละครั้ง
หมายถึงชัยชนะของตัวรู้ปรากฏทุกครั้งไป
ปฏิบัติธรรมคือสั่งสมตัวรู้
การปฏิบัติธรรมคือการสั่งสมตัวรู้
ให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
พอสั่งสมตัวรู้มากเท่าใดหมายความว่า
การที่จะดึงจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน
มันง่าย มันเร็ว มากขึ้นเท่านั้น
ยิ่งกลับมาปัจจุบันได้เร็วเท่าใด
ก็จะมีความผ่อนคลาย ความสบาย
ความปลอดโปร่ง
การทำจิตให้อยู่กับปัจจุบันมีสองลักษณะ
ลักษณะที่เป็นสมถะ
คือพยายามบังคับมันมาอยู่
แต่พอเผลอปั๊บมันไปเลย
พวกสมถะจึงทำความเพียรหนัก
แต่พวกวิปัสสนาจะให้มันอยู่โดยธรรมชาติ
โดยไม่ต้องบังคับ
สร้างความเข้าใจกับมัน
ว่าอยู่กับปัจจุบันเพื่ออะไร ให้มันคุ้น
เหมือนการล่อสัตว์ป่ามาอยู่ในอำนาจ
มีสองลักษณะ
หนึ่งคือไปตามจับมันมาขังไว้
พอเผลอแล้วมันหนีเข้าป่าลึกเลย
ประเภทที่สองไม่ต้องไปตามล่า
แต่ใช้เหยื่อที่มันชอบ
ที่อเมริกาเขาสามารถให้นกมาอยู่บ้าน
โดยไม่ต้องไล่จับมัน
เพียงแต่เอาอาหารไปห้อยไว้ให้มันกิน
ก็มาได้ทุกวัน เป็นการทำบุญ
แต่บ้านเราตามล่านก เอาลูกนกมาขังไว้
เป็นการเลี้ยงที่เป็นบาป
สัตว์ก็มาอยู่โดยธรรมชาติของมัน มันก็คุ้น
จิตของเราเหมือนกัน
ถ้าบังคับให้มันรู้ จิตมันจะเกร็ง หนัก
ตั้งใจไม่ใช่บังคับ
บางคนอยากให้ตัวรู้อยู่นานๆ
พยายามตั้งใจทำ
อย่างพวกหนอ เขาตั้งใจทำจริงๆ
บังคับจิต แต่มันไม่เคยอยู่
วิปัสสนาอย่างที่เราทำ
เราสร้างความคุ้นในการให้อาหารมัน
สร้างการเคลื่อนไหว
เหมือนการให้อาหารมัน
เราให้อาหารมันเรื่อยๆ
คือการทำความรู้สึกตัว
กำหนดรู้การเคลื่อนไหว
จิตเข้ามาเรื่อยๆ พอมาบ่อย
จิตมันคุ้นกับปัจจุบัน
มันรู้สึกถึงการมีอาหาร
มีที่อยู่ มีความปลอดภัย
ต่อไปจิตมันก็มาเอง
ลักษณะนี้คือวิปัสสนา
มันเต็มใจอยู่ ไม่ได้ถูกบังคับ
การบังคับให้จิตอยู่ เรียกว่าสมถะ
การให้จิตอยู่โดยที่ไม่บังคับ เรียกวิปัสสนา
ทำให้เกิดปัญญา เป็นความพอใจของทุกฝ่าย
เจ้าของบ้านก็พอใจที่ได้สัตว์มาอยู่ใกล้
สัตว์ก็พอใจที่ได้กินอาหาร
ปัจจุบันเกิดปัญญา
พอเราทำความรู้สึกตัว
เราเห็นจิตอยู่กับปัจจุบัน
เรารู้สึกสบาย สงบ พอใจ
จิตเองก็ไม่รู้สึกว่าฝืน
เพราะเกิดการผ่อนคลาย
และมารับรู้อยู่กับปัจจุบัน
เป็นลักษณะที่ว่า
วิปัสสนาทำให้เกิดปัญญา
การจับสัตว์โดยใช้ปัญญาหรือใช้เหยื่อล่อ
โดยที่ไม่บังคับ
เราจึงใช้วิธีฝึกแบบนี้ อาศัยการทำบ่อยๆ
เหมือนเจ้าของบ้าน
พอข้าวในกล่องที่ห้อยไว้หมด
ก็มาเติมเรื่อยๆ นกมันก็มาเรื่อยๆ
ไม่ใช่นกเท่านั้น กระรอกกระแตมาหมด
ในวัดก็เต็มไปด้วยสัตว์ที่ต้องการให้มา
เป็นความเมตตากรุณาอีกแบบหนึ่ง
ไม่ใช่การจับมาขังแบบโหดร้าย
เลี้ยงอาหารในกรงแบบบ้านเราทำ
อุบายที่จะจับจิตก็ทำฉันนั้นเหมือนกัน
เวลาที่เราเข้าใจเป้าหมายอย่างนี้แล้ว
การทำความเพียรถ้าเรารู้เป้าหมาย
ว่าทำเพื่ออะไร เราก็จะไม่รู้สึกเบื่อ
ไม่รู้สึกถูกบังคับ ไม่รู้สึกหนัก
แต่รู้สึกถึงการได้ใช้ปัญญา
ในการที่จะพลิกแพลง
ให้จิตอยู่กับปัจจุบันได้อย่างไร
นั่นคือเป้าหมาย
ใช้ปัญญาให้จิตไม่ไปวิ่งวนร่อนเร่
เหมือนนักฟุตบอลวิ่งตามลูกบอล
เหนื่อยแค่ไหนก็ยังต้องวิ่ง
เพราะลูกยังไม่เข้าประตู
สติเหมือนนายทวาร
เราวิ่งตามอดีตอนาคตทุกขณะ
เพราะจิตของเรายังไม่กลับ
เข้ามาสู่ปัจจุบัน อันเป็นเป้าหมาย
เราจึงต้องใช้อุบายนี้ในการ
เราจะวิ่งกระหืดกระหอบทั้งป
หรือว่าเราจะเฝ้าดูอย่างสบา
เฝ้าดูเหมือนนายประตูเฝ้าดู
สกัดกั้นไม่ให้ลูกบอลเข้าปร
ฝ่ายตรงข้ามก็พยายามอย่างเต
อันนี้คือธรรมชาติ เกมทั่วไปที่เขาใช้กันอยู่
เป็นอุบายวิปัสสนาที่เราต้อ
วันนี้เราเก็บสติภายนอก
พรุ่งนี้ก็จะแยกตัวว่าใครที
ถ้าสี่ห้าวันที่ผ่านมาเราฝึ
เวลาไปเก็บอารมณ์
ก็จะรู้สึกกระวนกระวาย ทำไม่ได้
คนไหนที่ทำไม่ได้ก็กลับมาปฏ
คนไหนที่ทำได้ก็จะปล่อยให้ป
ความก้าวหน้าก็จะเกิดขึ้น
คนที่ทำคนเดียวแล้ว
เกิดอยากหลับอยากนอนวุ่นวาย
แสดงว่าที่ทำมาสามสี่วันไม่
ไม่เข้าใจ ก็ต้องกลับมาอยู่ข้างนอกใหม
แต่คนที่อยู่คนเดียวแล้วรู้
ทำแล้วมันพัฒนา ก็อยู่ต่อ ก็จะดูแลเป็นคนๆ ไป
วันนี้ก็มาทบทวนตรวจสอบความ
ว่าเราพร้อมที่จะอยู่คนเดีย
พระพุทธยานันทภิกขุ